EXIM BANK คาดส่งออกปี 64 ฟื้นตัวสูงสุด 4%

16 พ.ย. 2563 | 09:56 น.

EXIM BANK คาด ส่งออกไทยปี 64 ฟื้นตัวสูงสุด 4% แนะผู้ประกอบการ ปรับตัวรับวิถีใหม่ บุกตลาด CLMV ฟื้นตัวเร็ว หวังดันส่งออกโต 2.5-4%

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบในหลายมิติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งด้านเศรษฐกิจ นโยบายรัฐและสังคม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลก กำลังจะผ่านจุดต่ำสุด จากสัญญาณกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ทั้งการผลิต บริโภค จ้างงานและการส่งออกที่เริ่มหดตัวน้อยลง

 

ล่าสุดกองทุนระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจและ การค้าโลก ปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 5.2% และ 8.3% ตามลำดับ และยังคาดว่า จาก 195 ประเทศ จะมีเพียง 60 ประเทศหรือ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มูลค่า GDP ในปี 2564 จะสูงกว่าหรือเท่ากับปี 2562 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้าของตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติ

EXIM BANK คาดส่งออกปี 64 ฟื้นตัวสูงสุด 4%

ในบรรดาประเทศเหล่านี้ที่เป็นตลาดส่งออก 20 อันดับแรกของไทย คือ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตลาดเหล่านี้ ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมประเภท เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปประเภทผลไม้สด ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องดื่ม

ดังนั้นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและ การส่งออกของไทย ในปี 2564 คือ ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวให้ได้ในโลกธุรกิจที่ปรับโฉมใหม่หลังโควิด-19 คือ เมื่ออุปสงค์ในประเทศกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคและการท่องเที่ยว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและบรรเทาภาระหนี้ให้ประชาชน การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง

 

ผู้ส่งออกไทยปรับตัวได้ดีในการผลิตและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายและทนต่อแรงเสียดทานได้ดีเช่น  การปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือเปลี่ยนวิธีการทำตลาดให้เหมาะสมกับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง เช่น ปรับดีไซน์เครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ให้มีราคาจำหน่ายที่จับต้องได้ รวมทั้งสามารถสร้างสมดุลระหว่างตลาดหลักและตลาดใหม่ได้ดี จนทำให้ภาคการส่งออกหดตัวน้อยลง

EXIM BANK คาดส่งออกปี 64 ฟื้นตัวสูงสุด 4%

ล่าสุดตัวเลขส่งออกของไทยเดือนกันยายน 2563 หดตัวเหลือ 3.9% ซึ่งหดตัวต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ตัวเลขส่งออก 9 เดือนแรกปี 2563 หดตัว 7.3% ดีกว่าคู่แข่งหลายประเทศเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย ประกอบกับหากนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าการลงทุนของสหรัฐฯในหลายมิติ เพราะนายไบเดนไม่สนับสนุนสงครามการค้า (Trade War)

 

“นายไบเดนสนับสนุนการลงทุนพลังงานสะอาด มีนโยบายขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนออกจากสหรัฐฯ มากขึ้น สวนทางกับแนวนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้บรรยากาศการค้าโลกมีท่าทีผ่อนคลาย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ให้สามารถเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ”

 

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยจะเติบโตได้สูงสุดถึง 4% ในปี 2564 เป็นผลจากเศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ (-10%) แม้ระยะสั้น จะยังไม่เท่ากับระดับเดิมในปี 2562 และยังคงชะลอตัวภายใต้บริบทและข้อจำกัดระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการส่งออกไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่า ทำให้ฟื้นตัวเร็วกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก

EXIM BANK คาดส่งออกปี 64 ฟื้นตัวสูงสุด 4%

“EXIM BANK เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึงอยู่เสมอ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 เราจึงมีความพร้อมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูธุรกิจส่งออกได้ทันที ควบคู่กับการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ส่งออกไทย ทั้งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ”

 

ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กรครั้งใหญ่ (Transformation) ส่งผลให้สามารถขยายยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อได้ถึง 78% จากยอดสินเชื่อคงค้าง 73,000 ล้าบาทเป็น 128,000 ล้านบาทในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา  ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการทำงาน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล เพื่อให้รับมือและปรับตัวได้ทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า  EXIM BANK มีเป้าหมายจะเป็น “ธนาคารแห่งความยั่งยืน” มุ่งเน้นการบริหารจัดการการเงินและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผนวกรวมกับการบริหารความเสี่ยงอย่างทั่วถึงทั้งองค์กรและการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืน ทำหน้าที่สนับสนุนการส่งออกและลงทุน โดยเฉพาะในตลาดใหม่ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลังมั่นใจ เศรษฐกิจไทยปีหน้าเป็นบวกได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง.คงดอกเบี้ยที่ 0.5%

สศช.จับตา"ว่างงาน-หนี้ครัวเรือน" แนะรัฐเร่งลงทุนประคองเศรษฐกิจ

รมว.คลัง เชื่อจีดีพีปีนี้ ติดลบน้อยกว่า 7.7%