ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง.คงดอกเบี้ยที่ 0.5%

16 พ.ย. 2563 | 08:45 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กนง.รอบ 18 พ.ย. คณะกรรมการฯ มีมติ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิม เหตุเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าคาด เชื่อกนง.ให้น้ำหนักบาทแข็งเร็ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบาย(กนง.)ที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน คาดว่า กนง.จะมีมติคง ดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 0.50% ตามเดิม เนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจไทย ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/63 หดตัวลง 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวลง 12.1% ในไตรมาส 2/63

 

ขณะที่หลังปรับปัจจัยฤดูกาลออก เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3/63 พลิกกลับมาขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว และเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยธปท.) ประเมินไว้ ดังนั้น กนง.จะยังไม่พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพิ่มเติมในรอบนี้ แต่จะเร่งเดินหน้ามาตรการอื่นที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุดและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

 

ดังนั้นมาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านสินเชื่อจะยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และช่วยเสริมกลไกการทำงานของมาตรการกระตุ้นด้านการคลังได้ โดยธปท.ขยายเวลาสำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน)ออกไปอีก 6 เดือน และปรับเงื่อนไขคุณสมบัติของธุรกิจที่ขอรับสินเชื่อให้ครอบคลุมความช่วยเหลือไปยังบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)

ขณะที่การเข้ามาช่วยค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ก็จะทำให้โครงการซอฟต์โลนมีส่วนช่วยประคับประคองลูกหนี้ SMEs และบรรเทาผลกระทบที่มีต่อการจ้างงานได้มากขึ้น นอกจากนี้การส่งเสริมให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายจะช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะดีทั้งลูกหนี้และสถาบันการเงิน

 

“การขยายขอบเขตของมาตรการด้านสินเชื่อดังกล่าว รวมถึงเร่งให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้หลังมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ยังคงต้องประเมินประสิทธิผลของมาตรการเป็นระยะๆ ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในระยะข้างหน้าก็อาจจะต้องมีมาตรการด้านการเงินอื่นออกมาเพิ่มเติม”

 

สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย น่าจะช่วยดูแลประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทได้ตรงจุดกว่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้วในปัจจุบัน และกนง.น่าจะเก็บรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไว้ใช้ในยามจำเป็นเพื่อดูแลเศรษฐกิจโดยรวม เพราะแนวโน้มในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกระยะในการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กนง.ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการประชุมรอบนี้ เพราะอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งในงานประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุด(14 ต.ค.) สะท้อนสัญญาณว่า ธปท. ตระหนักถึงแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงยาก

 

และอยู่ระหว่างเตรียมหลายมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดบัญชีที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้คงจะดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อลดความผันผวน และศึกษาความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป

 

นอกจากนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทย ยังมีโอกาสเผชิญกับอีกหลายปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า ซึ่งกนง.สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้หากจำเป็น แม้กรณีพื้นฐาน กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่คงต้องยอมรับว่า การดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องยังเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหลายปัจจัย เช่น การระบาดซ้ำของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนประสิทธิผลและความเพียงพอของมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ออกไป

 

ดังนั้นคาดว่า กนง. จะติดตามปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด หากเกิดสถานการณ์พลิกผันจนกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็จะมีมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้า FIDF หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อสถาบันการเงินให้สามารถส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงไปยังลูกค้าได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.ไฟเขียวแบงก์พาณิชย์จ่ายปันผลปี 63 แบบมีเงื่อนไข

เปิดโฉมกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิใน กนง.-กนส.

บันทึกลับ กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี กลับสู่ระดับเดิม

เปิด 3เหตุผล กนง. “คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย