"โรงไฟฟ้าชุมชน" เปิดขายซองเอกชนยื่นประมูลมกราคมปี 64

16 พ.ย. 2563 | 08:30 น.

“กพช.” เดินหน้าขับเคลื่อน "โรงไฟฟ้าชุมชน" เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ระบุเป้าหมาย 150 เมกกะวัตต์ พร้อมเปิดเอกชนซื้อซองประมูลมกราคมปี 64

นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563  โดยเห็นชอบโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมาย 150 เมกกะวัตต์ (ชีวมวล 75 เมกกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกกะวัตต์ )

โดยใช้ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสียไม่เกิน 25 %) แบ่งเป็นชีวมวล มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกกะวัตต์ต่อโครงการ ทั้งนี้ มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า  ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคา

ทั้งนี้ ให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น  ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

"โรงไฟฟ้าชุมชน" เปิดขายซองเอกชนยื่นประมูลมกราคมปี 64

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนมีความประสงค์ที่จะให้ประโยชน์ทั้งหลายต่อเกษตรกร  โดยผ่านผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า  ดังนั้น  จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน  และจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด  โดยวันนี้จะต้องมีการนำร่องไปก่อนเพื่อหารูปแบบที่สมบูรณ์  ซึ่งวิธีการประมูลก็คือจะต้องไม่แตะเรื่องค่าเชื้อเพลิง  เพราะเป็นส่วนที่เกษตรกรจะได้รับ  โดยจะมีการประมูลแข่งขันในส่วนของค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า  เพื่อจะได้ค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจากโครงการก็จะถูกนำไปใช้ปรับปรุงโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไปให้ดีขึ้น  เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯหลังจากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมกพช.แล้ว ขั้นตอนจากนี้ จะมีการปรับร่าง TOR ของสัญญาให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดขายเอกสารให้มายื่นการประมูลโครงการได้ในช่วงเดือนมกราคมปี 64 เพื่อให้เกิดการพิจารณาโครงการได้ในช่วงเดือนมีนาคม 64 ต่อไป

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2564 ในวงเงิน 6.5 พันล้านบาท ตามมติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญฯ และการจัดสรรเงินตามกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

สำหรับแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กรอบวงเงิน 6.3 พันล้านบาท ประกอบด้วย 1.กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 200 ล้านบาท ,2.กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จำนวน 500 ล้านบาท ,3.กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ จำนวน 355 ล้านบาท ,4.กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 200 ล้านบาท

,5.กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 450 ล้านบาท ,6.กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือ "เอสเอ็มอี" (SMEs) อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่และพื้นที่พิเศษ จำนวน 2.2 พันล้านบาท และ7.กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 2.4 พันล้านบาท และแผนบริหารจัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) จำนวน 195 ล้านบาท

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนหลังงาน ในฐานะเลข กพช. กล่าวว่า วิธีการคัดเลือกภาคเอกชนที่จะเสนอโครงการนั้น  จะให้ความสำคัญเรื่องของความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี การเงิน พื้นที่ ระบบสายส่ง เชื้อเพลิง การบริหารจัดการน้ำ และจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเกษตร  หลังจากนั้นก็จะไปถึงขั้นตอนเรื่องของราคา  โดยจะให้ภาคเอกชนเสนอส่วนลด FiT คงที่ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยผู้ที่เสนอส่วนลดมากที่สุดเป็นลำดับแรกจะได้รับการพิจารณาไปเรื่อยๆจนกระทั่งครบตามเป้าหมาย

ส่วนแผนการจัดหาเชื้อเพลิงก็จะมีสัญญาการรับซื้อในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน  หรือเครือข่ายในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) โดยที่ในสัญญาจะต้องระบุปริมาณการรับซื้อพืชพลังงาน  ระยะเวลาในการรับซื้อ  คุณสมบัติของพืชพลังงาน  และราคาไว้ในสัญญา ซึ่งพืชพลังงานจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน  หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน  หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงเป็นผู้เพาะปลูกอย่างน้อย 80% และเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเองสามารถที่จะจัดหาพืชพลังงานไม่เกิน 20%

“ที่ประชุมมีการหารือเรื่องการใช้ประโยชน์แบบบูรณาการของการใช้ที่ดินกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยการใช้ประโยชน์ด้วยการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชน หรือ กทช. รวมถึงควรมีการประสานความร่วมมือกับเกษตรและสหกรณ์ในการแนะนำการปลุกไม้โตเร็ว เป็นต้น”  

สำหรับในส่วนของกองทุนอนุรักษ์ นั้น ที่ประชุมขอพิจารณาเฉพาะปี 64 ก่อนจากเดิมที่เคยอนุมัติไว้ปี 63-67 โดยจะแบ่งเป็น 2 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนประมาณ 97% มีกรอบวงเงิน 6.3 พันล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งหมด 7 กลุ่มงานดังกล่าว และแผนบริหารจัดการ ส.กทอ.