เตือน 6 โรคภัยที่มาพร้อมหน้าหนาว

15 พ.ย. 2563 | 22:00 น.

รู้หรือไม่ว่า 6 โรคภัยยอดฮิตที่มาพร้อมกับอากาศหนาวเย็นมีอะไรบ้าง และข้อควรรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บไข้ได้ป่วย

ในช่วงหน้าหนาวมาเยือน แม้หลายคนจะชอบเพราะอากาศที่เย็นสบาย ไม่ร้อน แต่บางคนร่างกายก็ปรับตัวไม่ทัน ทำให้เจ็บป่วยกันได้ง่าย เนื่องจากอากาศเปลี่ยนแปลง วันนี้ ฐานเศรษฐกิจ จึงได้รวบรวมเอา 6 โรคภัยยอดฮิตในช่วงหน้าหนาวที่มักจะเป็นกันบ่อยมานำเสนอ พร้อมทั้งวิธีการป้องกันตัวเอง ลดโอกาสในการที่จะเจ็บป่วย โดยทั้ง 6 โรคภัยประกอบไปด้วย

 

1.ไข้หวัด พบได้ทุกฤดูกาล แต่ในหน้าหนาวจะเป็นได้ง่าย และบ่อยขึ้นมากกว่าปกติถึง 2 เท่า เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในทางเดินหายใจที่พบมากคือเชื้อไรโนไวรัส อาการที่พบคือ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม คันคอ เริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว 


นอกจากนั้นแล้วยังมี ไข้หวัดใหญ่ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน ต้นเหตุคือ เชื้อไวรัสอินฟลูเอ็นชา อาการที่พบ คือ หนาวสั่น ไข้ขึ้นสูง เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและศีรษะอย่างรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

 

2. โรคปอดบวม คือภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสที่มีมากเกินไปจนทำให้มีหนองและสารปนเปื้อนอย่างอื่นในถุงลม ซึ่งเชื้อมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะ สามารถแพร่กระจายเมื่อไอ จาม หรือการสำลักน้ำลาย เศษอาหาร และน้ำย่อย 


ผู้ป่วยมักมีอาการไอ จาม เสมหะมาก แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก คัดจมูก มีไข้สูงเกิน 2 วัน โรคปอดบวมมักจะพบหลังจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรัง หรือในคนที่เป็นโรคหอบหืด พบบ่อยในฤดูหนาว โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชราและเด็กเล็กอายุระหว่าง 5-10 ขวบ

 

สำหรับทั้งสองโรคอย่างไขัหวัด และ โรคปอดบวม สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น  

 

3.โรคหัด เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป อาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา และจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง 

 

4.โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย 


วิธีป้องกัน ทำได้โดยการดูแลสุขอนามัย เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย ดื่มน้ำที่สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน  

5.โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม  มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ 


ในการป้องกัน ผู้ปกครองและครูควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน สถานศึกษาตรวจคัดกรองเด็กทุกคนก่อนเข้าเรียน หากพบอาการสงสัยว่าป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ

 

6.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว นิยามคือ การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นในหรือนอกที่พักอาศัย เช่น บ้าน อาคาร สถานที่สาธารณะ โดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอในพื้นที่อากาศหนาว และคาดว่าเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว 


โดยข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ในช่วงฤดูหนาวตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2562 - 29 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่ามีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวังฯ 37 ราย เสียชีวิตภายในบ้าน 25 ราย และนอกบ้าน 12 ราย (นอนบนเตียงไม้หน้าบ้าน นอนในเปล นอนในเรือ)


 โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่มีผ้าห่มหรือสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่ไม่เพียงพอ รองลงมาคือ มีโรคประจำตัว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ตามลำดับ  


สำหรับการป้องกัน ควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ให้สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอและอยู่อาศัยในที่อบอุ่น งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รักษาความสะอาด ล้างมือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมถึงไม่ห่มผ้าหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น


ยังมีอีกหนึ่งโรคภัยที่ต้องเฝ้าระวังนั้นคือการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย ซึ่งหากใครเคยเห็นในข่าว จะมีกรณีประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวตามภูเขาและยอดดอย และพักผ่อนในเต็นท์ โรงแรม หรือรีสอร์ต ได้รับพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) จากการใช้อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่น เช่น ตะเกียง เตาอั้งโล่ และเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ ทำให้ก๊าซสะสมของในปริมาณมากจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน


 ข้อมูลปี 2562 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส พบว่ามีรายงาน 4 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย


 ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สและอุปกรณ์ทำความอบอุ่นต่างๆ ในการป้องกันคือ ไม่ควรจุดตะเกียงหรือเตาไฟที่ใช้น้ำมัน หลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงภายในเต็นท์และภายในที่พักอาศัยที่ไม่มีการระบายอากาศเพียงพอ 


เจ้าของโรงแรม รีสอร์ต ควรมีการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และการบำรุงรักษาเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส มีช่องหรือพัดลมระบายอากาศที่ได้มาตรฐาน ติดป้ายเตือนอันตราย และข้อควรปฏิบัติในการใช้งานอย่างชัดเจน ควรเว้นระยะเวลาการอาบน้ำต่อกันหลายคนอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้อากาศระบายออก


 ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และสถานประกอบการควรมีถังออกซิเจนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน 


ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่นและรีบออกจากห้องน้ำ หรือพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ นำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด