หลักการการเลือกตั้งในเมียนมา

16 พ.ย. 2563 | 00:00 น.

หลักการการเลือกตั้งในเมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์


          จบสิ้นการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศเมียนมาไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา หลากหลายคำถามที่หลั่งไหลเข้ามา ที่แฟนคลับสงสัย ซึ่งบางคำถามผมเองต้องบอกว่าก็ต้องไปสืบเสาะหาผู้รู้ที่เป็นเพื่อนๆ ชาวเมียนมา และคำตอบบางคำตอบ เขาเองก็ตอบได้ไม่ค่อยจะกระจ่างมาก ซึ่งผมก็ได้สอบถามไปที่เลขานุการและล่ามประจำตัวของท่านเอกอัครราชฑูตเมียนมา ท่าน Soe Aung ที่ท่านกรุณาผมมาโดยตลอด ท่านก็กรุณาบอกเล่าด้วยความวิริยะอุตสาหะมาก เพราะแปลเป็นภาษาไทยไม่ง่ายเลยจริงๆ ผมต้องกราบขอบพระคุณท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

          คำถามที่ถามมามีหลายคำถามมาก คิดว่าตอบในวันเดียวคงไม่หมดแน่นอน ผมจะพยายามเรียบเรียงมาตอบเป็นตอนๆ ไปนะครับ เช่นคำถามแรกมาจากคุณประเสริฐ ที่ถามมาว่า “ที่เมียนมาเขาเลือกตั้งและนับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนกันอย่างไร เพราะเห็นบอกว่า สมาชิกสภาผู้แทนมีทั้งหมด 440 ท่าน เป็นการแต่งตั้งจากฝ่ายความมั่นคง (ทหารนั่นแหละ) 110 ท่าน และมาจากการเลือกตั้ง 330 ท่านไม่ใช่เหรอครับ แต่ทำไมเวลาประกาศออกมา กลับบอกว่าพรรค NLD ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 396 ที่นั่ง แล้วอย่างนี้มันไม่มากเกินจากความเป็นจริงเหรอครับ” ขอบคุณมากครับที่ท่านสนใจข่าวสารประเทศเมียนมา 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันสำคัญ "เลือกตั้งใหญ่" ในเมียนมา 

"ซูจี" นำพรรค NLD คว้าชัยชนะการเลือกตั้งเมียนมา จ่อจัดตั้งรัฐบาลอีกสมัย

พรรคเอ็นแอลดี ของ“นางซูจี” จ่อคว้าชัยชนะเลือกตั้งเมียนมา



          ผมขอตอบว่า การเลือกตั้งในประเทศเมียนมานั้น เขาเลือกกันทั้งหมด 4 สภาฯด้วยกันครับ โดยเริ่มจากสภาฯแรกคือ สภาผู้แทนราษฎร หรือถ้าเป็นภาษาเมียนมา เขาเรียกว่า Pyithu Hluttaw อ่านว่า “ปิตู้ ลู่ต่อ” คำว่า “ปิตู้” หมายถึงราษฎรหรือประชาชน ส่วนลู่ต่อ แปลว่าสภา ในปิตู้ ลูต่อ มีจำนวนทั้งหมด 440 ที่นั่ง ซึ่งมีการแต่งตั้งไปทั้งหมด 110 ที่นั่ง ที่จริงแล้วจะต้องเลือกตั้งทั้งหมด 330 ที่นั่ง แต่ว่าครั้งนี้มีผู้สมัครจำนวน 15 ที่นั่งขาดคุณสมบัติ จึงเลือกกันเพียง 315 ที่นั่งเท่านั้นครับ
       

          ส่วนสภาฯที่สองเรียกว่า วุฒิสภาหรือสภาสูงนั่นเอง ที่เมียนมาเขาเรียกว่า Amyotha hluttaw อ่านว่า “อะเมียวตา ลู่ต่อ” คำว่า “อะเมียวตา” แปลว่าท่านผู้ทรงคุณวุฒิ เขาจะมีทั้งหมด 224 ที่นั่ง มาจากทุกๆ State/Division ซึ่งเมียนมามีทั้งหมด 7 State 7 Division รัฐละ 14 ที่นั่งเท่าๆกัน  แต่แต่งตั้งจากฝ่ายคงความมั่นคงเสีย 56 ที่นั่ง และครั้งนี้มีผู้ขาดคุณสมบัติไปเสีย 7 ที่นั่ง ดังนั้นจึงทำการเลือกตั้งได้เพียง 161 ที่นั่ง ถ้าท่านเอาทั้งสองสภาฯนี้รวมกัน จะได้ทั้งหมด 642 ที่นั่งดังนั้นกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาจึงต้องมีมากกว่า 321 เสียง ดังนั้นถ้าพรรคไหนได้เสียงมากถึง 322 เสียง ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้เลยนั่นเองครับ พอจะมองออกแล้วใช่มั้ยครับว่า 396 ที่นั่งนั้นไม่เกินแน่นอนครับ

          เรามาดูอีกสภาฯหนึ่ง คือสภาผู้แทนท้องถิ่น หรือภาษาเมียนมาเรียกว่า State/Division Hluttaw หรือถ้าจะเรียกให้เป็นภาษาเมียนมาแท้ๆก็คือ ตั้ย/ เต่ต้าจี ติเหง่ ลู่ต่อ (ผมเองก็จนปัญญาที่จะหาการสะกดเป็นภาษาคาราโอเกะ จริงๆครับ) ส่วนจำนวนผู้แทนนั้น เท่าที่ทราบคือทั้งหมด 612 ที่นั่งครับ ซึ่งสภาฯนี้เขาก็จะมีไว้สำหรับบริหารในรัฐแต่ละรัฐ เช่นรัฐย่างกุ้ง หรือรัฐฉาน รัฐกระหยิ่น เขาก็จะมีคณะกรรมการสภาท้องถิ่นของเขาเองเป็นต้น ส่วนผู้นำในรัฐนั้น เขาเรียกว่า Chief Minister Of…..Region Government เป็นต้น ส่วนภาษาไทยนั้น เราก็จะเรียกว่า “มุขมนตรีประจำรัฐ....” ซึ่งมุขมนตรีแต่ละรัฐเขาจะมีหน้าที่รับผิดชอบแต่ละรัฐไป ซึ่งก็ยิ่งใหญ่มาก บางครั้งที่เมียนมาเราจะได้ยินได้ฟังว่ามีการจับกุมมุขมนตรีที่ทำเกินเลยต่อหน้าที่กันบ่อยๆครับ 

          สภาฯที่ 4 สุดท้ายคือ Tine Yin Thar Yay Yar Hluttaw อ่านว่า “ตัยหยิ่นตา เญ่ญ่า ลู่ต่อ” ซึ่งคำว่า ตัยหยิ่นตา แปลว่า คนบนภูเขาหรือชนชาติพันธุ์นั่นเองครับ ส่วนคำว่า เญ่ญ่า แปลว่าวัฒนธรรม ซึ่งสภานี้ก็หมายถึงสภาชนชาติพันธุ์นั่นแหละครับ ซึ่งสภานี้เขาจะให้เฉพาะคนชาติพันธุ์เท่านั้น ที่มีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง แล้วทำไงถึงจะรู้ละว่าเป็นชนชาติพันธุ์จริงหรือเปล่า? อันนี้คนเมียนมาเขาจะดูจากชื่อ เพราะแต่ละชนชาติพันธุ์ชื่อจะไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นชนชาติพันธุ์ไทยใหญ่ หรือเมียนมาเรียกว่า “เฉี่ยม” ถ้าเป็นผู้ชายก็จะมีคำนำหน้าชื่อว่า “Sai” อ่านว่า “ซาย” ถ้าเป็นภาษาไทยก็คือ “ชาย”นั่นแหละครับ หรือถ้าเป็นผู้หญิง ชื่อก็จะเป็น “Nang” อ่านว่า “นาง” อันนี้ไม่ต้องแปล หรือถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็จะเป็น “Yin” อ่านว่า “ยิน” หรือถ้าแปลเป็นไทยก็ “หญิง” นั่นไงครับ อีกประการหนึ่ง ที่บัตรประชาชนหรือเมียนมาเรียกว่า “มะป่องติ่ง” ด้านหลังเขาก็มีระบุไว้เช่นกันครับว่าเป็นชนชาติพันธุ์อะไร อันนี้มั่วไม่ได้เลยครับ 
   

          ในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น ประชาชนที่เข้าคูหาเลือกตั้ง จะได้รับบัตรเลือกตั้งกันคนละ 3 ใบ คือใบที่ 1-3 ก็เลือกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสภาท้องถิ่นนั่นแหละครับ ส่วนชนชาติพันธุ์จะได้รับทั้งหมด 4 ใบ เพิ่มสภาชนชาติพันธุ์อีกใบ แต่เวลาเขานับเสียงข้างมากข้างน้อย เขาจะนับกันแค่ 2 ใบแรกเท่านั้น นั่นคือสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ดังนั้นที่คุณประเสริฐถามมาว่าทำไมดูเหมือนจะประกาศผลเกินเลย ไม่เกินหรอกครับ เขาประกาศถูกต้องแล้วครับ 

          อาทิตย์หน้า ผมจะมาตอบคำถามของอีกท่านหนึ่งที่ถามว่า เขาเลือกประธานาธิบดีกันอย่างไรนะครับ อาทิตย์นี้คำถามเดียวก็หมดหน้ากระดาษแล้วครับ คอยติดตามตอนต่อไปก็แล้วกันนะครับ