ไขข้อสงสัย...โดยสารเครื่องบินยุคโควิด-19 มีความเสี่ยงหรือไม่

15 พ.ย. 2563 | 02:54 น.

แพทย์ เผย ข้อควรรู้เมื่อต้องโดยสารเครื่องบิน พร้อมแนะวิธีป้องกันและปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากการโควิด -19

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat " ว่าด้วยเรื่อง  "ถาม-ตอบ...โดยสารเครื่องบินอย่างไรให้ห่างไกลโควิด? "โดยมีด้วยกันทั้งหมด 6 คำถาม มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

 

1. เสี่ยงไหมหากเดินทางโดยเครื่องบิน


ตอบ: เสี่ยง เพราะมีรายงานการติดเชื้อไวรัสโรค COVID-19 ระหว่างเดินทางในเครื่องบินอย่างน้อยใน 5 เที่ยวบิน และมีอีกกว่า 2,000 เที่ยวบินที่มีรายงานตรวจพบผู้โดยสารที่ติดเชื้อเดินทางมาในเที่ยวบิน ดังนั้นระวังไว้ก็จะดี

 

2. อะไรที่ต้องทำอย่างเคร่งครัด?


ตอบ: ใส่หน้ากากเสมอ และหากมีอาการไม่สบาย ไม่ควรเดินทาง ถือว่าเป็นความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อสังคม ไม่ควรกินยาเพื่อระงับหรือปิดอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาระงับไอ

 

3. ตอนเข้าออกเครื่องบินเสี่ยงไหม?


ตอบ: งานวิจัยพบว่ามีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้ ทั้งตอนเข้าและออกเครื่องบินครับ เรื่องที่ต้องระวังคือ ใส่หน้ากากเสมอ พยายามรักษาระยะห่างจากคนอื่นเวลาเดินเข้าออก และหลีกเลี่ยงการจับต้องสิ่งของต่างๆ ระหว่างเดินเข้าหรือออกจากเครื่องบิน เช่น การจับพนักพิง รวมถึงจำกัดจำนวนสิ่งของที่ถือขึ้นเครื่องเพื่อลดการปนเปื้อน
 

4. กินอาหารบนเครื่องบินได้ไหม?


ตอบ: โอกาสมีไวรัสปนเปื้อนอาหารและเครื่องดื่มนั้นน้อยมากครับ แต่ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้คือ การถอดหน้ากากระหว่างการกินอาหารนั่นเอง การวิจัยพบว่า หากมีคนติดเชื้อนั่งอยู่ใกล้ๆ ในระยะ 2 เมตร ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจะมากหากใช้เวลากินอาหารนานกว่า 15 นาที ดังนั้นถ้าเดินทางระยะสั้น การไม่กินก็จะดีที่สุด แต่หากจะกินก็ใช้เวลาน้อยๆ


แต่หากเดินทางระยะทางไกล อาจมีการตกลงกัน เหลื่อมเวลาการกินกันก็จะช่วยได้ อย่างไรก็ตามคงต้องอาศัยความร่วมมือและการจัดระบบบริการจากสายการบินด้วย  

 

5. ที่นั่งมีผลต่อความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไหม?


ตอบ: มีการวิจัยพบว่ามีผลบ้าง อย่างไรก็ตามหากที่นั่งบนเครื่องแน่น ก็คงไม่ต่างอะไรมากมาย ไม่ว่าจะนั่งริมทางเดิน ตรงกลาง หรือริมหน้าต่าง ดีสุดคงเป็นการป้องกันตนเองให้เคร่งครัดเท่าที่จะทำได้

 

6. ห้องสุขาต้องระวังไหม?
ตอบ: ต้องระวังเช่นกัน เพราะมีรายงานวิจัยพบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อจากการใช้ห้องสุขาในเที่ยวบินจากมิลานไปเกาหลีใต้ และเคยมีการศึกษาพบว่า การกดชักโครกเพื่อชำระล้างนั้นจะทำให้มีละอองฝอยกระเด็นขึ้นมาสูงถึง 106.5 เซนติเมตร ซึ่งเสี่ยงต่อการสูดหายใจเข้าไปได้ ดังนั้นก่อนกดชักโครก ก็ควรปิดฝาลงมาก่อน และหลังจากใช้สุขาก็ต้องล้างมือทุกครั้ง

 

จากที่เล่ามาข้างต้น หากจำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ก็ขอให้วางแผนเดินทางให้ดี เตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้ครบถ้วน และเคร่งครัดในการป้องกัน  

 

อ้างอิง
Khatib AN et al. Navigating the Risks of Flying During COVID-19: A Review for Safe Air Travel. J Travel Med. 2020 Nov 12;taaa212.