“อภิสิทธิ์-สุดารัตน์”จี้สภารับร่างแก้ไขรธน.ทุกฉบับเพื่อทางออก

13 พ.ย. 2563 | 14:21 น.

“อภิสิทธิ์”เตือนรัฐสภาต้องรับหลักการร่างแก้ไขรธน.เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา ดึงทุกเรื่องถกในสภา“สุดารัตน์”ชี้โอกาสสุดท้ายพิสูจน์ใจนายกฯ "คำนูณ"เสนอนิรโทษกรรมทุกฝ่ายผ่าทางตัน-แก้รัฐธรรมนูญ


วันนี้(13 พ.ย.63) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมกันจัดเวทีประชุมทางการเมือง หัวข้อ "บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย" 

 

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะคิดว่าจะทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้ต้องประกาศขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ในฐานะที่เป็นตัวปัญหาทุกเรื่อง หากนายกฯลาออกจะเป็นการถอดสลักตัวแรก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการถอดสลักที่สอง แต่ปรากฎว่ามีส.ว.ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนต้องออกมาช่วยกันกดดัน 

 

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวว่า ตอนนี้เป็นเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่จะได้ดูว่าประเทศไทยจะไปในทิศทางไหน โดยรัฐสภาเป็นสถาบันที่มีบทบาทอย่างมากทั้งในฐานะเป็นตัวปัญหาและคลี่คลายปัญหาให้กับสังคม เราเห็นภาพชัดว่าจุดชี้ขาด คือ วุฒิสภา


“พื้นฐานของส.ว. 250 คน ทั้งในแง่บุคคลและโครงสร้าง กล่าวได้ชัดเจนว่าส.ว.เป็นตัวแทนชนชั้นนำและกลุ่มคนอภิสิทธิ์ชน ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน โดยมีอุดมการณ์รากฐานที่ต้องการรักษาอำนาจเดิมเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปกป้องวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ภายใต้ความเชื่อเช่นนี้ทำให้ ส.ว.พยายามใช้ยุทธศาสตร์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวผ่านการเลือกองค์กรอิสระ การลงมติคัดค้านในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากมีการปฏิบัติทางการเมืองที่กระทบต่อเครือข่ายตัวเอง ส่งผลให้เห็นการต่อต้านหลากหลายและการประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อหยุดยั้งการกระทำที่คุกคามตนเอง เห็นได้จากการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" 


อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่เกิดขึ้นอาจเกิดทำให้เอกภาพของส.ว.เกิดการแตกขึ้นได้ และจะมีพื้นที่เจตจำนงเสรีหลงเหลืออยู่บ้าง โดยไม่ได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว การตัดสินใจจะยื้อการแก้ไขรัฐธรมนูญจะทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของส.ว.น้อยลง เพราะการทำเช่นนั้นไม่ต่างอะไรกับการไม่ฟังเสียงของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้ความขัดแย้งเข้มข้นมากขึ้น
“ผลกระทบที่มากกว่าภาพลักษณ์ทีเสียของส.ว. มีมากกว่านั้น เพราะจะทำให้ประชาชนเชื่อว่าส.ว.เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้ประชาชนแสดงออกถึงความสิ้นหวัง บทบาทที่ส.ว.จะดำเนินการในวันที่ 17-18พ.ย.จะต้องตระหนักความเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย การตัดสินลงมติในทางใดก็ต้องใช้จินตนาการและวิสัทัศน์มากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า" นายพิชาย กล่าว 

 

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า ตนเองเคยออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ควรเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะมีปัญหาหลายประการ ทั้งความอ่อนแอในการปราบปรามการทุจริตและความอ่อนแอในประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของส.ว.ที่มากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งเสียเอง 


นอกจากนี้ ความขัดแย้งในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีมิติมากขึ้น เพราะมีมิติความคาดหวังของคนรุ่นใหม่และความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็ยังมีทางออกได้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องให้รัฐสภามีฉันทามติว่าควรมีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าในวันที่ 17-18 พ.ย.เลือกที่จะปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกได้เลยว่าเส้นทางการนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งแทบจะไม่เหลือแล้ว การจะทำให้คลี่คลายได้จะต้องมีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คนพยายามตีความและอ้างศาลรัฐธรรมนูญควรไปอ่านคำวินิจฉัยในอดีตใหม่ เพราะครั้งนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ต้องทำประชามติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึงสองรอบ


“การลาออก การยุบสภา โดยที่ยังไม่มีการแก้ไขกติกา จะยังคงทำให้ปัญหากลับมาอยู่ที่เดิม การรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นรูปธรรมเดียวที่ทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจได้ยินข้อเรียกร้องถึงกกิตาที่ควรต้องแก้ไข และจะเป็นการสร้างเวทีและโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างรัฐสภาและผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การแก้ไขในขั้นตอนของรัฐสภา" 

 

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับข้อห่วงใยเรื่อง หมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ หากติดตามเนื้อหาในรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจะพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญประเด็นเกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ได้มีแค่หมวดดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังมีในหมวดอื่นๆด้วย ถ้าเรากังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปกระทบเรื่องเหล่านี้ ก็ควรไปพูดคุยกันด้วยเหตุผลในรัฐสภา และกำหนดเป็นข้อตกลงว่ายังต้องคงไว้ซึ่งความเป็นรัฐเดี่ยว และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเปิดพื้นที่ให้เอาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนไปคุยกันได้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อไม่ให้มีการใช้ถ้อยคำไปกระทบความรู้สึกต่อกัน


“ตอนนี้คาดการณ์ว่าจะเกิดการรับและไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบางฉบับ ช่องว่างระหว่างสองฝ่ายไม่ได้ลดลงเลย มีความพยายามจะบอกว่านายกฯ ส่งสัญญาณแล้ว ซึ่งเท่าที่ติดตามพบว่านายกฯ บอกแค่ให้สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและพยายามอ้างเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่กลับเกิดการพยายามยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้านายกฯ จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับผ่านสภาก็ทำได้ง่ายนิดเดียว โดยยืนบอกกลางสภาเลยว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นทางออกของประเทศ และให้ไปคุยในรายละเอียด เพื่อให้นายกฯทำงานต่อไปได้ ผมก็อยากดูเหมือนกันว่าถ้านายกฯ พูดแบบนี้จะมีส.ว.ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่" นายอภิสิทธิ์ กล่าว   
 

ส่วน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานสถาบันสร้างไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งครั้งนี้มีมติระหว่างประชาชนด้วยกันเอง รวมทั้งยังเรื่องการมองปัญหาทางการเมืองแตกต่างกันของคนในแต่ละช่วงวัย 


นอกจากนี้ ในอดีตเมื่อครั้งมีความขัดแย้งหรือการรัฐประหาร แต่ละครั้งทุนของประเทศยังหนาอยู่ ทว่าครั้งนี้เรามีความเปราะบางมาก เราจะเสี่ยงไม่ได้และจะต้องไม่เกิดการใช้กำลังเด็ดขาด เพราะจะทำให้ประเทศไทยจมดิ่งไม่รู้ถึงจุดไหน

 

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า การที่นายกฯบอกว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดใดๆนั้นถือว่าเป็นความผิดชัดเจน การกระทำของนายกฯ ทำให้ตนเองเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง เริ่มตั้งแต่การสืบทอดอำนาจและติดกับดักตัวเอง ตามมาด้วยการกระทำผิดรัฐธรรมนูญนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ได้มีการปราบโกง ส่วนหนึ่งมาจากองค์กรตรวจสอบไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลิดรอนสิทธิประชาชนและขัดขวางการกระจายอำนาจ ทำให้ไม่เกิดความเจริญงอกงามในประเทศไทย การแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายๆ คือ ความจริงใจของนายกฯ และเปิดหูรับฟังโดยเข้าใจและต้องนำไปแก้ไข การเป็นผู้นำไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจแต่ต้องทำให้ประเทศอยู่รอด" 


คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ได้จริงใจในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะย้อนกลับไปพบว่ามีกระบวนการที่จะพยายามยื้อไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ  ดังนั้น ในวันที่ 17-18 พ.ย.จะเป็นโอกาสสุดท้ายในการพิสูจน์ความจริงใจของนายกฯ


"ถ้านายกฯจริงใจก็พูดออกมาคำเดียว คิดว่าส.ส.และส.ว.จะเห็นด้วยและทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาได้จบภายในเดือนธ.ค.ทั้งสามวาระ และเข้าสู่กระบวนการจัดทำประชามติ ซึ่งแบบนี้ทำให้ปลายปี 2564 ประชาชนจะได้เลือกตั้งภายใต้กติกาที่มาจากประชาชน" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

 

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ขอนำเสนอข้อมูลในนามส่วนตัว ทั้งนี้ วันที่ 17-18 พ.ย.เป็นวันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้พอสมควร ตนเองคิดทบทวนตลอดเวลานับตั้งแต่มาเป็นส.ว. โดยเคยเสนอว่าบ้านเมืองถึงเวลาที่ต้องคิดถึงการสลายความขัดแย้งเป็นรูปธรรม ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนตัวรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและการลดอำนาจของส.ว. ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไม่ใช่ว่าตนเองไม่เห็นด้วย แต่มองว่าในเมื่อจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ควรให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาดำเนินการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ซึ่งความคิดเห็นของตนเองในลักษณะนี้ถือเป็นส่วนน้อยในวุฒิสภา


"ผมเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่เคยกำหนดให้มีการให้เปิดให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่มีการแก้ไขเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นมาแล้ว การแก้ไขมาตรา 256 จะต้องถูกทำประชามติโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" 


นายคำนูณ กล่าวว่า เส้นทางการไปศาลรัฐธรรมนูญเรื่องใดๆ รัฐธรรมนูญแต่ละประเทศจะเขียนไว้ค่อนข้างจำกัด อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็กำหนดแล้วว่าจะต้องดำเนินการตาม 256 (9) เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นการกำหนดกรอบของศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างจำกัด 


การไปศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 49 ว่าด้วยการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจะกระทำมิได้ โดยยื่นผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งในช่องทางนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความผิด 


ส่วนมาตรา 210 (2) ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ที่มีส.ส.และส.ว.ร่วมกันยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนเองไม่เห็นด้วย และจะไม่ยกมือให้กับญัตตินี้ เนื่องจากตนเองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หากไม่รู้ว่าหน้าที่มีอะไร แต่ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นเรื่องแปลก การเขียนมาตรา 210 (2) ในเชิงทฤษฎีคิดว่าค่อนข้างอันตราย