“บีซีพีจี” รับเงินเพิ่มทุนกว่า 1 หมื่นล้านรับแผนผู้นำโรงไฟฟ้าภูมิภาคอาเซียน

13 พ.ย. 2563 | 03:40 น.

"บีซีพีจี” กระแสดีทั้งบางจาก รายย่อยและนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงใช้สิทธิเต็มจำนวน ทำให้ฐานะกิจการแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม โดยได้รับเงินทันทีกว่า 7 พันล้านบาท และทยอยรับส่วนที่เหลือจากการใช้สิทธิของวอแรนท์ รวมแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ในส่วนที่เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) จำนวนไม่เกิน 250  ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5 บาท  ในอัตรา 8 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ราคาเสนอขาย 11.50 บาท ซึ่งได้มีการเปิดจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ได้รับการตอบรับจากผู้ถือหุ้นอย่างดี

ทั้งนี้ เนื่องจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ต่อศักยภาพในการเติบโตของบีซีพีจี ที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียน  โดยเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนบางส่วนเตรียมไปใช้สำหรับการชำระหนี้สถาบันการเงิน

สำหรับในส่วนของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่บีซีพีจี ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเข้ามาเต็มสัดส่วน เพื่อเสริมฐานะทางการเงินของบีซีพีจี ให้มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนขยายธุรกิจในอนาคต ขณะเดียวกันหุ้นเพิ่มทุนในส่วนที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ให้กับ พิลกริม พาร์ทเนอร์ส เอเชีย (Pilgrim Partners Asia) และ แคปปิตอล เอเชีย อินเวสเมนท์ส (Capital Asia Investments) ได้ใช้สิทธิและใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาเรียบร้อยแล้ว

"การเพิ่มทุนครั้งนี้ทำให้ บีซีพีจี ได้รับเงินทั้งหมดประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ฐานทุนของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยเสริมสร้างโอกาสในการขยายการลงทุน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และการพัฒนาธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคต”

นายบัณฑิต กล่าวต่อไปอีกว่า วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้  เพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประมาณ 3.75 พันล้านบาท กำหนดระยะเวลาการใช้เงินในปี 2563-2566 และนำไปชำระคืนเงินกู้สำหรับการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย ในปี 2563-2565

นอกจากนี้ ยังเตรียมไปชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนในการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B กำลังการผลิตรวม 114 เมกะวัตต์ รวมถึงการนำเงินไปลงทุนสำหรับการติดตั้งสายส่งสำหรับการจำหน่ายไฟฟ้าไปยังประเทศเวียดนามได้ตามแผน รวมประมาณ 1.87 พันล้านบาท ภายในปี 2563 ส่วนที่เหลืออีก 3.7 พันล้านบาท จะนำไปใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศภายในปี 2563-2564