โรงสีขาดสภาพคล่องขอซอฟต์โลน 3 หมื่นล้าน

12 พ.ย. 2563 | 13:45 น.

สมาคมโรงสีฯ ร้องขอซอฟต์โลน 3 หมื่นล้าน  จากเค้ก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 4 แสนล้าน ยังเหลือเพียบ โอดโดนแบงก์บีบจนขาดสภาพคล่องหนัก หากได้ตามขอ เชื่ออานิสงค์รัฐไม่ต้องแบกชดเชยประกันรายได้อื้อ นายกโรงสี ระบุราคาข้าวต่ำสุดแล้ว

โรงสีขาดสภาพคล่องขอซอฟต์โลน 3 หมื่นล้าน

 

วันที่ 12 พ.ย. 2563 นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ  “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการที่ได้เข้าร่วมประชุมหารือ ในเรื่องการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยมีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รักษาการอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานในที่ประชุม พร้อมกับ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย, นายไกรสีห์ ลียานุกูล อุปนายกฯ, นายพิชัย รุ่งเรืองด้วยบุญ ที่ปรึกษาสมาคมฯ, นายวินัย เงินเกื้อกูล กรรมการ, นายวินิจ เลาห์ทวีรุ่งเรือง รองเลขาธิการฯ และนายวิเชษฐ์ ดวงประสาท กรรมการ เข้าร่วมประชุม ด้วยนั้น  มาตรการที่ 1 การปล่อยสินเชื่อ ให้กู้ของผู้ประกอบการโรงสี ยกตัวอย่างหลักประกัน  กรณี ธนาคารกรุงไทย ให้กู้สินเชื่อ 70% ขณะที่ธนาคารอื่นให้กู้สินเชื่อ80% ซึ่งส่วนใหญ่โรงสีจะกู้แล้วใช้ธนาคารกรุงไทย

 

“จะฉายภาพการปล่อยกู้ธนาคาร ในกรณีของผู้ประกอบการโรงสี 1.ใช้อาคารที่ดิน โรงสี เข้าไปค้ำประกัน แล้ว 2.ซื้อข้าว เข้ามา 100 ล้านบาท จะให้เงินโรงสีเป็นวงเงิน 70 ล้านบาท จะเห็นว่า “หลักประกันของโรงสีจะมี 2 ชั้น ก็คือ ทั้งโรงสีค้ำ แล้วก็นำเข้าเปลือกแล้วข้าวสารมาค้ำประกัน แต่ให้วงสินเชื่อ 70% ของปริมาณราคาข้าวสารที่มีอยู่ ทางสมาคมก็เห็นว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ใช้หลักทรัพย์ทั้งโรงสีและข้าว ค้ำซ้อนกันอยู่ แล้วปล่อยสินเชื่อแค่70% ไม่ถูกต้อง แต่ฝ่ายธนาคารก็บอกว่า ราคาข้าวเปลือกและข้าวสาร มีความแกว่งผันผวน มีความเสี่ยง”

 

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกปรับตัวลงมา ยกตัวอย่าง ปัจจุบันข้าวที่ค้ำอยู่กับธนาคารมีมูลค่าเหลืออยู่ 49% จาก 70% ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ ธนาคารก็แจ้งว่าให้ซื้อข้าวมาเพิ่มให้ครบมูลค่าหรือโอนเงินเพิ่มเติมเข้ามาให้เท่ากับ วงเงินที่ปล่อยสินเชื่อไป 70 %  ซึ่งในกรณีแบบนี้ทำไมไม่คิดว่ามีโรงสีค้ำประกันอยู่ไม่ใช่แค่มูลค่าข้าวเพียงอย่างเดียว เพราะโรงสี ก็เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีใครจะชักดาบอยู่แล้ว เพราะมีหลักทรัพย์เพียงพอ ยกเว้นคนที่ตั้งใจก็ว่ากันไป  เป็นแบบนี้สภาพคล่องโรงสีถึงหายไป จากราคาข้าวที่ปรับตัวลงมา มูลค่าข้าวเปลือกและข้าวสารที่ไปค้ำประกันก็ลดลงด้วย จึงทำให้ไม่ครอบคลุมกับธนาคารที่ตั้งหลักเกณฑ์ไว้ ในมุมเราก็ว่าธนาคารควรจะให้ 100% ด้วยซ้ำ

 

“แต่ราคาปรับลงไป จะบังคับให้ขายข้าว เพื่อนำเงินมาคืนธนาคาร หรือไปนำเงินมาโปะ มองว่าไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ สภาพคล่องที่หายไปเพราะถูกธนาคารบีบ จะให้ซื้อข้าวมาเติมก็ไม่มีเงิน เพราะขาดทุนอยู่ แค่เจรจาให้ยอมถอยให้ปล่อย 80% เพื่อให้เท่าเทียมกับธนาคารอื่นๆ ก็ไม่ยอม จึงเป็นที่มาของการเจรจาในวันนี้ ที่ให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือ เนื่องจากราคาข้าวปรับตัวลง จึงทำให้สภาพคล่องหายไป”

 

โรงสีขาดสภาพคล่องขอซอฟต์โลน 3 หมื่นล้าน

นายหัสดิน กล่าวว่า ราคาข้าวจาก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับราคาลดเหลือ 700 ดอลลาร์สหรัฐ หายไปเฉลี่ย 20-30% ต่ำสุดแล้ว ไม่มีทางไหลลงไป 500 ดอลาร์สหรัฐแล้ว ต้องให้ผู้ประกอบการนำเงินใหม่ เพื่อไปซื้อข้าวกลับคืนมา ก็จะไปซื้อข้าวเกษตรกรเพื่อพยุงราคาไว้ ช่วยกันซื้อ รพยุงราคาก็ไม่ลง  ต้องอะลุ่มอล่วย เพราะราคาข้าวออกมาในช่วงนี้ มีเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำ ฝนตก ข้าวมีความชื้นสูง เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวต่ำลง ข้าวเกิดความเครียดแตกหักมากขึ้น เมื่อราคาลงมา ธนาคารก็จะบังคับให้ขายข้าว หรือไม่ก็ต้องหาเงินมาเติม จะไปหามาจากไหน นี่คือที่มาของการพูดคุยกันในวันนี้

 

ในเรื่องมาตรการที่ 2 ปัจจุบันซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) ในระบบ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ยังมีเหลือ 3.7 แสนล้านบาท  การจ่ายไม่ได้เป็นไปตามเป้า ซึ่งตอนนี้ทางแบงค์ชาติจะช่วยเหลือผู้ประกอบการทางโรงแรม ซึ่งธุรกิจโรงแรมมีความเสี่ยงกว่าโรงสีอีก เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามา แล้วไม่รู้ว่าใช้ระยะเวลานานแค่ไหนถึงจะมีวัคซีนเข้ามา จนทำให้เกิดการท่องเที่ยวปกติ ก็ยังคิดที่จะช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นั่นเป็นนโยบาย แต่วันนี้ราคาข้าวที่ต่ำลงมา ความเสียหายของประเทศเกิดขึ้นแล้ว จะชิ่งไปกระทบกับโครงการประกันรายได้ อย่างข้าวหอมมะลิ ประกันรายได้รอบแรก รัฐก็ชดเชยตันละ 2.9 พันบาท แล้วหากราคาปรับลดลงมาอีก จะหาเงินที่ไหนมาชดเชย แต่ถ้ามีสภาพคล่องเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาซื้อข้าวเปลือก/ข้าวสารมาเก็บสต็อกเอาไว้ ก็จะได้อานิสงค์โครงการประกันรายได้ที่รัฐอาจจะจ่ายน้อยหรือไม่ต้องจ่าย

 

โรงสีขาดสภาพคล่องขอซอฟต์โลน 3 หมื่นล้าน

 

ทั้งนี้การพิจารณาซอฟต์โลน 2 ปี ซึ่งที่มาของ 30,000 ล้านบาท  ถอดตัวเลขมาจาก ปัจจุบันอุตสาหกรรมข้าวประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ก็แค่ 20% โดยนำมาจากเงิน พ.ร.ก.เงินกู้ที่เหลืออยู่ ที่ปล่อยไม่ได้เอามาปล่อยให้อุตสาหกรรมโรงสีข้าวให้ในส่วนของคนที่มีกำลัง หากคนไม่มีกำลังธนาคารก็ไม่ปล่อยอยู่แล้ว หลักการก็คือ ปล่อยเงินกู้20% จำกัดวงเงินกู้ธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท  สมมติว่า มีสินเชื่ออยู่ 2 ธนาคาร ก็คือ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกรุงเทพ ถ้ามีวงเงินสินเชื่อเดิมอยู่แล้ว 500 ล้านบาท จะไม่เข้าหลักเกณฑ์ในส่วนนี้อยู่ จะไม่ได้ แต่ถ้ามีวงเงินสินเชื่ออยู่ 600 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 300 ล้าน ธนาคารกรุงเทพ 300 ล้านบาท   ก็สามารถที่จะกู้เพิ่ม 20% ของ 300 ล้านบาทได้ ก็คือ ธนาคารละ 60 ล้านบาท เท่ากับมีเงินในระบบเข้ามาซื้อข้าวเพิ่มอีก 120 ล้านบาท มองว่าเป็นวัตถุประสงค์ของแบงค์ชาติอยู่แล้วที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ นอกจากจะทำให้สกัดราคาข้าวไม่ให้ไหลลงไปมากกว่า และราคาจะปรับสูงขึ้นด้วย เกิดอานิสงค์กับประเทศด้วย เพราะราคาหากลงต่ำไปมากกว่านี้รัฐบาลจะไปหาเงินที่ไหนมาจ่ายชดเขยชาวนา ก็มองว่านี่เป็นมาตรการคู่ขนาน เป็นผลดีกับรัฐบาลด้วย

 

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ทางอธิบดีกรมการค้าภายในได้รับปากว่าจะทำหนังสือถึงแบงค์ชาติเพื่อช่วยเหลือเสริมสภาพคล่องตามที่สมาคมฯ ได้ร้องขอวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท  อย่างไรก็ดีราคาข้าวทุกชนิดต่ำสุดแล้ว ราคาคงไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว