ลูกสาว ‘วิสาร’ มือกรีดเลือดในสภา เต็ง 1 นายกอบจ.เชียงราย

14 พ.ย. 2563 | 03:20 น.

ลูกสาว ‘วิสาร’ มือกรีดเลือดในสภา เต็ง 1 นายกอบจ.เชียงราย : เจาะสนามเลือกตั้ง อบจ. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,627 หน้า 10 วันที่ 15 - 18 พฤศจิกายน 2563

 

สนามการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ที่เคยเป็นสนามประลองกำลังกันทางการเมืองของตระกูล “ติยะไพรัช” กับตระกูล “จงสุทธนามณี” ชนิดเลือดโชก เลือกตั้งครั้งนี้คนในตระกูล “จงสุทธนามณี” ที่มี “วันชัย” เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย ไม่ส่งตัวแทนลงสนามชิงนายก อบจ. เช่นเดียวกับตระกูล “ติยะไพรัช” ก็ขอบาย เนื่องจาก “สลักจฤฎดิ์” ยังอยู่ในช่วงถูกตัดสิทธิทางการเมือง

 

จึงทำให้มีผู้สมัครเพียง 3 รายประกอบด้วย ผู้สมัครหมาย เลข 1 “มงคลชัย ดวงแสงทอง” ผู้สมัครหมายเลข 2 “อทิตาทร วันไชยธนวงศ์” (สจ.นก) และผู้สมัครหมายเลข 3 “วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์” (ยิ้ม)

 

พิจารณาจากนามสกุลและเครือข่ายผู้สนับสนุน คอการเมืองที่เชียงรายยกให้ผู้สมัครหมายเลข 3 “วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์” เป็นเต็ง 1 เพราะ “วิสาระดี” คืออดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นบุตสาวของ “วิสาร เตชะธีราวัฒน์” ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งจะเป็นข่าวโด่งดังจากเหตุการณ์กรีดเลือดกลางสภา เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา 

 

เหตุที่ตอกยํ้าความเป็นเต็ง 1 ของ “วิสาระดี” เป็นเพราะได้รับไฟเขียวจากครอบครัว “ติยะไพรัช” เป็นที่เรียบร้อย เห็นได้จากการเข้าไปร่วมเป็นผู้บริหาร “สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด” สโมสรฟุตบอลของตระกูล “ติยะไพรัช” มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และยังสามารถเปิดตัวได้ว่าเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย แถมยังเป็นลูกสะไภ้ของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อีกตำแหน่ง   

 

 

 

ตระกูล “ติยะไพรัช” และตระกูล “เตชะธีราวัฒน์” มีฐานเสียงและระบบหัวคะแนนที่เข้มแข็ง เห็นได้จากการผูกขาดตำแหน่ง ส.ส. ของจังหวัดเชียงรายมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีหลัง แม้ว่าคะแนนจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยคงจะแตกไปบ้าง เพราะผู้สมัครหมายเลข 2 ก็เป็นทายาทตระกูล “วันไชยธนวงศ์” ส.ส.พรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกัน และขึ้นป้ายจองเป็นตัวแทนพรรคลงชิงนายก อบจ.มาแต่ไก่โห่ แต่ในท้ายสุดเพื่อไทยมีมติส่ง “วิสาระดี” เป็นตัวแทนพรรค จึงต้องรวบรวมฐานเสียงและเครือข่ายของตนเองลงสนามสู้ในนามอิสระ  

 

 

ลูกสาว ‘วิสาร’ มือกรีดเลือดในสภา เต็ง 1 นายกอบจ.เชียงราย

 

 

ส่วนเบอร์ 1 อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย วิศวกรผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ และอดีตวุฒิสมาชิก คงสู้เบอร์ 2 และเบอร์ 3 ที่มีความชัดเจนในเรื่องของฐานเสียงที่เป็นคะแนนจัดตั้งมากกว่า อย่างไรก็ตาม การแข่งขันครั้งนี้ ถ้าว่าถึงเฉพาะตัวผู้สมัครแล้ว ความโดดเด่นถือว่าใกล้เคียงกัน คะแนนจัดตั้งจึงน่าจะเป็นตัวตัดสิน 

 

 

 

ขณะที่กลุ่มก้าวไกลที่เคยประกาศจะส่งตัวแทนลงชิงสนามท้องถิ่นด้วย และสร้างความหวั่นไหวแก่ฐานเสียงกลุ่มการเมืองต่างๆ เนื่องจากการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่สร้างปรากฏการณ์สามารถแหวกผู้สมัครของพรรคการเมืองเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เพื่อไทย” ที่เป็นเจ้าถิ่นยึดทุกเก้าอี้ต่อเนื่องมาได้ถึง 2 เขต แต่ถึงวันสมัครกลุ่มก้าวไกลไม่ส่งคนลงสนามแต่อย่างใด  

 

บรรยากาศการหาเสียง ตามสมัยนิยมผู้สมัครทั้ง 3 คน ได้เปิดเพจโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเองและเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงราย กันล่วงหน้ามาแล้วพอควร นับจากนี้เป็นต้นไปการหาเสียงด้วยรูปแบบอนาล็อกเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นรถแห่ ติดตั้งป้ายหาเสียง แจกใบปลิวจะตามมา ประกอบกับ 18 อำเภอของเชียงรายมีการเลือก ส.อบจ.จำนวนมาก 36 คน ทำให้ที่มีผู้สมัครเลือกตั้ง ส.อบจ. มากถึง 158 คน การหาเสียงต่างๆ จึงน่าจะมีมากพอที่จะปลุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง