สู้ไม่ถอย ! BEM-BTS ชิง‘สายสีส้ม’

12 พ.ย. 2563 | 03:48 น.

             2ยักษ์รถไฟฟ้าเดือด ชิงสายสีส้ม    BTS ยื่นประมูล ยึดเกณฑ์ทีโออาร์เดิม ลั่นราชกรุ๊ปร่วมทุนไม่ทัน ด้าน BEM ไม่ยอมแพ้ บุก รฟม. ยื่นข้อเสนอรายแรก

เป็นไปตามคาด ว่าการยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 จะมีกลุ่มผู้ท้าชิง เพียง 2 กลุ่ม ได้แก่ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กับ บีทีเอสกรุ๊ปแม้อาจมีอุปสรรคจากการ รอศาลชี้ขาดว่า จะยึด ทีโออาร์ เดิมหรือ ทีโออาร์ใหม่ ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ไข

 

แต่ทั้งนี้เชื่อว่า ไม่ว่า จะใช้เกณฑ์อะไรทั้งสองค่าย ต่างสู้ขาดใจเพื่อให้ได้งาน รายงานข่าวจาก รฟม.แจ้งว่าได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท มีเอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 10 - 24 กรกฎาคม 2563  จำนวน 10 ราย ล่าสุด รฟม.เปิดรับซองข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 พบว่ามีบริษัทยื่นซองข้อเสนอ 2 กลุ่ม ดังนี้

 

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  2. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) และ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC)โดย BEM เดินทางมาถึง รฟม. ยื่นซองข้อเสนอร่วมลงทุนสายสีส้มรายแรกในช่วงเช้านำโดย นายวิฑูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง  BEM

 

ขณะช่วงบ่าย ตัวแทนจาก BTSC และตัวแทนบมจ.ซิโน-ไทย นำขบวนรถบรรทุกเอกสารยื่นซองข้อเสนอ

 

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า สำหรับการยื่นข้อเสนอโครงการฯในครั้งนี้ ทางบีทีเอสยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR โดยมีพันธมิตร 3 ราย คือ BTSC เป็นลีดเดอร์กลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ STEC ส่วนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เคยเป็นพันธ มิตรในกลุ่ม BSR ในโครงการอื่นก่อนหน้านี้ ไม่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ เพราะทราบว่ายังติดกระบวนการภายใน แต่ยังได้รับคำยืนยันว่ามีความประสงค์ที่จะร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้รับจ้างช่วงโครงการฯ ในภายหลัง

 

“ส่วนข้อเสนอที่ยื่นซองประมูลในวันนี้ยังไม่ขอตอบรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร เพราะอยู่ระหว่างกระบวนการประกวดราคา ซึ่งเงื่อนไขข้อเสนอของโครงการฯ เรายึดเกณฑ์ทีโออาร์เดิมตามที่ศาลปกครองมีคำสั่ง ทั้งนี้คำสั่งศาลฯจะเกี่ยวข้องกับวิธีการประเมิน ซึ่งเราก็ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันการประมูลโครงการฯ คนที่ทำงานก็ต้องมีความมั่นใจอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ยื่นข้อเสนอครบทั้ง 4 ซองในการประกวดราคาครั้งนี้”

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หากศาลปกครองมีคำสั่งให้ใช้เกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอาจจะกระทบต่อการยื่นซองประมูลหรือไม่กระทบก็ได้ เนื่องจากรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เพราะเกณฑ์ทีโออาร์ที่ออกมายังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่กำหนดว่าเป็นอย่างไร คาดว่ารฟม.จะเปิดซองข้อเสนอครั้งแรก หลังจากทราบผลการตัดสินของศาลปกครอง โดยจะเชิญเอกชนที่ยื่นซองในวันนี้เข้าร่วมด้วย

               

สู้ไม่ถอย ! BEM-BTS ชิง‘สายสีส้ม’

 

ทั้งนี้ด้านความพร้อมในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ กลุ่ม BSR ในฐานะผู้ทำงาน มีความมั่นใจในการยื่นข้อเสนออยู่แล้ว ถึงแม้ว่ากระบวรการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอโครงการ ของคณะกรรมการ มาตรา 36 จะยังไม่เป็นที่แน่ชัด เพราะ รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์ไปตามกระบวนการศาลปกครองสูงสุด แต่กลุ่ม BSR ไม่มีเรื่องหนักใจ หรือยุ่งยากในการเตรียมข้อเสนอ เพราะในฐานะภาคเอกชนได้นำข้อเสนอที่ดีที่สุดมายื่นอยู่แล้ว

 

ขณะเดียวกันหลังจากที่ รฟม. ยื่นร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ BTS ยังไม่ได้รับคำสั่งจากศาลแต่อย่างใด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีที่ BTSC ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้ปรับหลักเกณฑ์ประมูลโครงการดังกล่าว ภายหลังเปิดขายซองข้อเสนอไปแล้ว โดยศาลมีคำสั่งให้ รฟม. ไปใช้หลักเกณฑ์เดิมในการประมูลโครงการ ซึ่ง รฟม.จะต้องกลับไปใช้เกณฑ์การตัดสินคะแนนทางการเงิน 100 คะแนน จากที่ก่อนหน้านี้ปรับมาจะใช้เทคนิค 30 คะแนน และการเงิน 70 คะแนน

 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

หน้า7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3626