ประกันรายได้ ข้าว ยางพารา เกษตรกร ได้เงินประกันส่วนต่างวันไหนเช็กที่นี่ที่เดียว
12 พฤศจิกายน 2563 จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดำเนินมาตรการประกันรายได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและยางพาราวงเงินรวมทั้งสิ้น 61,900.82 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงินรวม 51,858 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง วงเงิน 10,042 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับราคาข้าวตกต่ำ ว่า ภายในสัปดาห์นี้กระทรวงพาณิชย์จะเชิญธนาคารพาณิชย์และแบงก์ชาติ มาเจรจราในการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆในการปล่อยสินเชื่อให้กับโรงสีเพื่อเร่งรับซื้อข้าวจากเกษตรกร และ คณะอนุกรรมการได้สรุปเงินส่วนต่าง สำหรับเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว
รายละเอียดการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในส่วนต่างของเกษตรกรที่ปลูกข้าว และ ยางพารา ได้รับเงินส่วนต่างเท่าไหร่และวันไหนเช็กรายละเอียดจากบรรทัดถัดจากนี้
โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64
ระยะเวลาดำเนินการ
- ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – พฤษภาคม 2563
การประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ความชื้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ได้แก่
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตันได้ส่วนต่างตันละ 2,911 บาท
- ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ส่วนต่างตันละ 2,137 บาท
- ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ส่วนต่างตันละ 1,222 บาท
- ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน ส่วนต่างตันละ 1,066 บาท
- ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ส่วนต่างตันละ 2,084 บาท
เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย
- เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564
- โดยเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการประกันฯ ได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน
- การจ่ายเงินงวดแรกวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแต่ละชนิดรับเงินส่วนต่างสูงสุด
ส่วนต่างราคาข้าวที่เกษตรกรได้รับการชดเชย
- ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 26,674 บาทต่อครัวเรือน
- ข้าวเหนียวจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 33,349 บาทต่อครัวเรือน
- ข้าวเปลือกเจ้า ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 36,670 บาทต่อครัวเรือน
- ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 34,199 บาทต่อครัวเรือน
- ข้าวหอมมะลิจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 40,756 บาทต่อครัวเรือน
โครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารา
- ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย
- พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,286,186.03 ไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564
- ราคายางที่ประกันรายได้ กำหนดให้ยางแผ่นดิบคุณภาพดี อยู่ที่ 60.00 บาท/กิโลกรัม
- น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม
- ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม
- ส่วนปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้
- ผลผลิตยางแห้ง 20 กก./ไร่/เดือน
- ยางก้อนถ้วย 40 กก./ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้แก่เจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40%
การจ่ายเงินส่วนต่าง นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คาดว่าจะสามารถจ่ายได้ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2563