หวั่น “ภัยแล้ง” รุนแรง เตรียมแผนคุมเข้ม

11 พ.ย. 2563 | 12:58 น.

เกษตรฯ เคาะพื้นที่ปลูกข้าว จัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ใช้โมเดลจัดการเสี่ยงสาธารณภัยครอบคลุมทุกมิติ หวังคุมเข้มรับมือแล้งหากแผนหลุดเป้า

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563/64 คาดว่าจะมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำ หากมีการใช้น้ำในแต่ละส่วนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อ ภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร และเตรียมการให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยใช้กรอบแนวคิด "Smart DRM for 3s : SEP - SDGs - SEDRR" มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบครอบคลุมทุกมิติ  ซึ่งจะเสนอ (ร่าง) แผนดังกล่าว เข้าคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป

 

หวั่น “ภัยแล้ง” รุนแรง เตรียมแผนคุมเข้ม

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 และได้กำหนดแผน นโยบายและมาตรการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยมีแผนการเพาะปลูกทั่วประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 1.12 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.49 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 2.51 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.97 ล้านไร่) สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 1.04 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.48 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.56 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่) และลุ่มน้ำแม่กลองจำนวน 0.30 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.02 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน  0.02 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.28 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.21 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่) อย่างไรก็ตาม ด้านการจัดสรรน้ำ ได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการอุปโภค - บริโภค การรักษาระบบนิเวศ์ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ด้านเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับของความสำคัญ

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 48,380 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 64% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 24,451 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 47% ของความจุน้ำใช้การ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของน้ำใช้การ จำนวน 2 แห่ง คือ ภูมิพล แม่มอก ปริมาณน้ำไหลลงอ่างและระบาย ช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง (1 พ.ย.63 – ปัจจุบัน) ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 1,512.01 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจากอ่าง 403.89 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ย. 63) ในส่วนของสภาพอากาศในขณะนี้พายุดีเปรสชั่น "เอตาว" (พายุระดับ 2) ได้อ่อนกำลัง   ลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้วบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกของประเทศไทยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ย. 63)