‘โควิด’สะเทือนวงการออกแบบ  งานหด โจทย์ยาก

11 พ.ย. 2563 | 12:17 น.

คอลัมน์ ผ่ามุมคิด

 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินเวลาเกือบหนึ่งปีเต็ม ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่า เฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.29 ล้านล้านบาทนั้น จะชะลอตัวลงอย่างมีนัย อ่วมสุดในโครงการคอนโดมิเนียม ไม่นับรวมถึงความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นอย่างวงกว้างทางสังคม และจะมีผลต่อแนวคิด การออกแบบ ตึกรามบ้านช่อง โครงการอสังหาริมทรัพย์น้อย-ใหญ่ทั่วประเทศ ขณะในวงการออกแบบและก่อสร้าง เปรียบเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายไม่น้อย ในการปรับตัว สร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์ New Nomal หรือการใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต ท่ามกลางอุปสรรค ต้นทุนเพิ่ม แต่กำลังซื้ออ่อนแอลง ขณะนายไพทยา บัญชากิติคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด ในฐานะกรรมการสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร เผยแนวโน้มตลาด คาดปีนี้ งานก่อสร้างคอนโดฯจะหายไป ราว 20-30% ห่วงสุดพบปิดดีลรับเหมาก่อสร้าง เกิดราคาดิ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภค กดดันให้วงการสถาปนิกยกเครื่องครั้งใหญ่ ผ่านแนวคิดใหม่ๆ เชื่อคอนโดฯ ขนาดเล็ก 24 ตร.ม. อาจสูญพันธุ์ ระบุ ตลาดไปต่อได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ “ความแม่นยำของโปรดักต์” เป็นหลัก เพราะหลายความเปลี่ยนแปลงคือโอกาส

งานในมือหดตัว10-20%
    ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่ละปีมีมูลค่า 1.29 ล้านล้านบาทนั้น คาดว่าปี 2563 คงทรงตัวหรือหดตัวลงเล็กน้อย โดยมีจุดบอดในตลาดคอนโด ซึ่งเป็นชิ้นงานหลักในการออกแบบ-ก่อสร้าง ลดลงราว 20-30% ของมูลค่า 3 แสนล้านบาท เฉพาะช่วงไตรมาส 2 ซีบีอาร์อี เผย มีตัวเลขลดลงถึง 70% ต่ำสุดในรอบ 10 ปีในแง่หน่วยเปิดใหม่ แต่ทั้งนี้ ที่ตลาดยังทรงตัวได้ เนื่องจากอีก 9 แสนล้านบาท-1 ล้านล้านบาทกระจุกตัวในอสังหาฯประเภทอื่นๆ นั้นมีปริมาณงานลดลงแค่เล็กน้อย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของตลาดแนวราบ เกิดการดูดซับดีกว่าปกติถึง 2 เท่า วิกฤติจึงยังไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม จากภาวะดังกล่าว ได้ส่งผลภาพรวมทำให้ธุรกิจสถาปนิก มีโครงการในมือลดลง 10-20% และระยะเวลาการส่งมอบงานช้าขึ้น จากเดิม 6 เดือน เพิ่มเป็น 1 ปี
    “แนวโน้มอสังหาฯมันน่ากังวลตั้งแต่ปี 2560 และชัดเจนขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขาลงในช่วงปีที่แล้ว พอเจอโควิด ตลาดเลยช็อก ส่งต่อปริมาณงานในมือธุรกิจออกแบบลดน้อยลง แต่อยู่ในภาวะไปได้ เนื่องจากอสังหาฯบางส่วน ยังงัดที่ดินออกมาพัฒนาอยู่ โดยงานอาคารสูง อาจปรับลดลง แต่แนวราบเพิ่มขึ้น ท่ามกลางอัตราการเร่งงานที่น้อยลง และราคาก่อสร้าง ซึ่งพบล่าสุด มีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ปิดงานในราคาต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่อง จากต้องการงาน”
    ส่วนตลาดจังหวัดยังไปต่อได้ เช่น ภูเก็ต พัทยา คาดเนื่องจาก ผู้ประกอบการบางส่วน เริ่มมองหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ หลังจากตลาดกทม.หลายทำเล มีภาวะโอเวอร์ซัพพลาย และอยู่ในช่วงขาลงตามวัฎจักร

 

‘โควิด’สะเทือนวงการออกแบบ  งานหด โจทย์ยาก

 

โอกาสและความเปราะบาง
    ขณะตลาดก่อสร้างโรงแรมนั้น ช่วงนี้อาจมองว่าเป็นโอกาส เนื่องจากมีการเทคโอเวอร์เปลี่ยนมือ และ
รีโนเวตใหม่เกิดขึ้น ส่วนตลาดคอนโดฯ หากมองมุมบวก พบ การดัมพ์ราคาขายลง 30-50% ท่ามกลางปริมาณหน่วยใหม่เข้าตลาดน้อยลง ก็จะทำให้ซัพพลายเก่าๆ ถูกเคลียร์ออกไป เปิดรับโครงการใหม่ๆ อีกทั้งยังพบว่า ตลาดช่วงไตรมาส 3 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น บางโครงการสามารถปิดการขายได้ ไม่ได้โอเวอร์ซัพพลายในทุกโลเคชั่น และอาจมีปัจจัยบวกเรื่องราคาที่ดินในบางทำเล ซึ่งพบอีกเช่นกัน ว่า บางแปลงมีราคาซื้อขายกันลดลง 20-30% เนื่องจากการตัดขายทิ้งของผู้ประกอบการที่ถือไว้ หรือเจ้าของที่ร้อนเงินต้องการสภาพคล่อง จึงยอมขาดแบบขาดทุนกำไร ส่วนการเติบโตในกลุ่มแนวราบนั้น เชื่อว่า มาจากผู้บริโภคบางกลุ่ม ยังมีกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง และบางส่วนซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจ ระหว่างบ้าน หรือคอนโดฯในเมือง เมื่อเผชิญกับรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ จึงมองหาความคุ้มค่า ซึ่งได้สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก 

สร้างความแม่นยำโปรดักต์ 
    นายไพทยา กล่าวต่อว่า ความปกติใหม่ (New Normal) กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการออกแบบ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเทรนด์สุขภาพ ผู้อยู่อาศัยคำนึงถึงความสะอาดและสุขอนามัยเป็นหลัก ซึ่งเดิมโปรดักต์ในรูปแบบดังกล่าว จะมีต้นทุนที่สูงกว่าปกติ 5-10% ด้วยขนาด และการใส่เพิ่มเทคโนโลยีทั้งภายในบ้าน คอนโดฯ และพื้นที่ส่วนกลาง ท่ามกลาง โจทย์ใหญ่ ที่ผู้ประกอบการต้องการควบคุมต้นทุน ขณะผู้ซื้อเอง ต้องการราคาขายที่สามารถเข้าถึงได้ตามสภาพเศรษฐกิจ โดยปัจจุบัน มีโครงการเปิดใหม่ จำนวนยูนิตมาก หลายโครงการต้องปรับปรุงรูปแบบพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้ลูกบ้านเพิ่มขึ้น ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการออกแบบ พบมีการคำนึงถึงขนาดภายในห้องพักที่ขยายใหญ่ขึ้น เพิ่มฟังก์ชั่นห้องครัว ห้องทำงานแยก ขณะโครงการบ้านจัดสรรนั้น การมีสระน้ำส่วนตัว กำลังเป็นที่นิยม โดยทั้งหมดจะมีราคาเป็นตัวกำหนดหลังจากนี้
        “จากโอกาสของตลาดยังมี ความแม่นยำทางโปรดักต์จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง พบบางส่วนยอมไปเคาะลดต้นทุนส่วนอื่นๆลง เพื่อนำมาสร้างจุดขายด้านสุขอนามัย ซึ่งโจทย์ปีหน้า เป็นหน้าที่ของดีเวลลอปเปอร์ ต้องไปหาวิธี ทำให้ราคาขายลดลงได้ราว 20-30% เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ตามโจทย์ความต้องการใหม่”

คอนโดฯ 24 ตร.ม.สูญพันธุ์
    โดยประเด็นดังกล่าว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในตลาดคอนโดฯ เพราะพบผู้ซื้อมีความต้องการพื้นที่ใช้สอย เพิ่มขึ้นอีก 20% จากเดิม ขนาด 21-24 ตร.ม. เพิ่มเป็นอย่างต่ำต้อง 27 ตร.ม. ขึ้นไป สำหรับ1 ห้องนอน ขณะรูปแบบที่ใหญ่ขึ้น พื้นที่อาจต้องขยายเป็น 35 ตร.ม. เพื่อให้รองรับการอยู่อาศัยได้มากกว่า2 คน ในระดับราคาที่จากเดิม 1 แสนบาทต่อตร.ม. ต้องให้เหลือ 7-8 หมื่นบาทต่อตร.ม. และเพิ่มสัดส่วนรูปแบบห้องขนาดใหญ่ต่อโครงการให้มากขึ้น หลังจากอดีตผู้พัฒนาฯมักให้น้ำหนัก กับห้องสตูดิโอ หรือ 1 ห้องนอน จำนวนมากสุด
  

 

 

 “อนาคต ผู้ซื้อต้องการห้องใหญ่ขึ้น แต่ราคาถูกลง กล่าวได้ว่า ห้องขนาดเล็ก จะไม่น่าสนใจอีกต่อไป ตัวอย่าง เช่น ผู้ซื้อมีงบ 3 ล้านบาท เดิมหากเฉลี่ย 1 แสนต่อตร.ม. จะซื้อได้ 30 ตร.ม. แต่ตอนนี้จะมีมองหาในราคาเพียง 8 หมื่น เพื่อให้งบเท่าเดิม แต่ได้ห้องที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 ตร.ม. เป็นต้น”  
    ทั้งนี้ยังรวมถึงการออกแบบเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของคนหลากหลายกลุ่มอายุ ทั้งกลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มวัยรุ่น และผู้เริ่มทำงาน ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกด้วย 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,624 วันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563