“กบง.” เห็นชอบนำร่อง "โรงไฟฟ้าชุมชน" 150 เมกกะวัตต์

11 พ.ย. 2563 | 10:30 น.

“กบง.” เห็นชอบนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกกะวัตต์ รับทราบแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2

นายสุพัฒน์พงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน โครงการนำร่องโดยใช้ ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 %) มีเป้าหมาย150 เมกกะวัตต์ (ชีวมวล 75 เมกกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกกะวัตต์) ชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกกะวัตต์ต่อโครงการ

ทั้งนี้  กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาฯ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

“กบง.” เห็นชอบนำร่อง "โรงไฟฟ้าชุมชน" 150 เมกกะวัตต์

อย่างไรก็ดี  ยังรับทราบแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ในช่วงปี 2564 – 2572 ตามรูปแบบปรับปรุงแนวทางเดิมตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2560 และให้จัดทำคำสั่งคณะทำงานพิเศษพิจารณาแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 มีหน้าที่พิจารณารูปแบบการส่งเสริมการแข่งขัน ราคา LNG นำเข้า โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่เหมาะสม และแนวทางต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยส่งเสริม ให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2566 เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกง พระนครใต้ และวังน้อย มีปริมาณไม่เกิน 1.9, 1.8, 1.8 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ โดยการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติที่ต้องการให้มี shipper หลายราย ทั้งนี้ กฟผ. จะต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อกำหนดของ TPA และข้อกำหนดอื่นๆ

และกรณีที่ราคาขายปลีกก๊าซ NGV ต่ำกว่า 13.62 บาท/กก. ให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ (ในเขต กทม./ปริมณฑล: รถแท็กซี่/ตุ๊กตุ๊ก/รถตู้ร่วม ขสมก. ในต่างจังหวัด: รถโดยสาร/มินิบัส/สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสาร/รถตู้ร่วม บขส. และรถแท็กซี่) ปรับลดลงตามราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถทั่วไป โดยให้มีผลตั้งแต่ 16 พฤศจิกายน 63 ถึง 31 ธันวาคม 63 คาดว่าราคาเดือนพฤศจิกายน และ ธันวาคม 63 ราคา NGV จะต่ำกว่า 13.62 บาท/กิโลกรัม ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง