อาณาจักรแอ๊นท์กรุ๊ป ในตลาดหลักทรัพย์จีน (2) 

11 พ.ย. 2563 | 06:00 น.

อาณาจักรแอ๊นท์กรุ๊ป ในตลาดหลักทรัพย์จีน (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย....ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

ฮวาเป่ย ทำหน้าที่เป็นเสมือนบัตรเครดิตออนไลน์เพื่อใช้ในการหาซื้ออาหาร เครื่องสำอางค์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านเถาเป่า (Taobao) หรือแพล็ตฟอร์มการค้าออนไลน์อื่น ขณะที่เจี้ยเป่ยเป็นบริการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหาสินค้าและบริการ 

 

ในระยะแรก การให้บริการของเจี้ยเป่ยมุ่งเน้นไปที่สินเชื่อเพื่อการซื้อหาสินค้า อาทิ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และขยายไปครอบคลุมบริการด้านการท่องเที่ยว การศึกษา และอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยบริษัททำหน้าที่เป็นเพียงเกตเวย์ และใช้แหล่งเงินสินเชื่อส่วนใหญ่จากธนาคารพาณิชย์จีน ทำให้ระดับความเสี่ยงทางการเงินในมุมมองของบริษัทมีอยู่ต่ำมาก

 

ในรอบปีที่ผ่านมา บริการนี้ปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าถึงราว 500 ล้านคน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 15% ต่อปี และจากการวิเคราะห์ของกลุ่มโกลแมนซาคส์ (Goldman Sachs Group) คาดว่ายอดการปล่อยสินเชื่อนี้จะพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 2 ล้านล้านหยวนในปี 2021

 

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบการด้านการเงินผู้บริโภค ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ ก็จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายบริการสินเชื่อได้ถึง 10 เท่าของเงินทุน ซึ่งสูงกว่าใบอนุญาตที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ได้รับเพียง 2-3 เท่าตัว

 

ในชั่วพริบตาหลังออกสู่ท้องตลาด แอพทั้งสองได้กลายเป็นบริการสินเชื่อผู้บริโภคออนไลน์ที่ใหญ่ในโลก จากสถิติในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจทั้งสองส่วนสามารถสร้างรายได้ก้อนใหญ่ที่สุดให้กับกลุ่มในสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของรายได้โดยรวม

 

ในปี 2019 แอ๊นท์กระโดดเข้าสู่ตลาดประกันสุขภาพภายใต้หน่วยธุรกิจ “อินชัวร์เทค” (InsureTech) โดยนำเสนอ “เซียงฮู่เป่า” (Xianghubao) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเอาประกันจากโรคนับ 100 ประเภท ซึ่งครอบคลุมถึงโรคร้ายที่ผู้คนหวาดกลัว อาทิ มะเร็ง อัลไซม์เมอร์ และอีโบล่า ด้วยระบบการประกันสุขภาพระหว่างกัน (Mutual Insurance) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก 

 

แผนประกันสุขภาพออนไลน์ของบริษัทมีเงื่อนไขที่ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องเผชิญกับค่าเบี้ยประกันที่สูงดังเช่นของบริษัทประกันทั่วไป โดยเปิดโอกาสให้คนที่มีอายุตั้งแต่ 30 วันจนถึง 59 ปีและผ่านเกณฑ์สุขภาพและความเสี่ยงพื้นฐาน สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าสมัครและเงินล่วงหน้าแต่อย่างใด  อาณาจักรแอ๊นท์กรุ๊ป  ในตลาดหลักทรัพย์จีน (2) 

 

 

เพื่อเพิ่มความถูกต้องและรวดเร็วในการเคลมเงินและแชร์ค่าใช้จ่าย ลดปัญหาด้านเอกสาร และการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น บริษัทยังได้นำเอาระบบบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาช่วยอีกด้วย

 

หากเจ็บป่วย เงินชดเชยที่ผู้เอาประกันได้รับอยู่ที่ราว 100,000-300,000 หยวนขึ้นอยู่กับช่วงอายุ โดยบริษัทคิดค่าบริหารจัดการเพียง 8-10% ของเม็ดเงินโดยรวม ขณะที่ผู้เข้าร่วมกลุ่มจ่ายเงินที่เป็นเสมือนเบี้ยประกันเพียงปีละ 100 หยวนเศษเท่านั้น

 

ด้วยบริการที่โดนใจเช่นนี้จึงทำให้เซียงฮู่เป่าใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปีสร้างลูกค้าถึง 100 ล้านคน ในจำนวนนี้ ราว 2 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 หยวนต่อปี ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท จึงนับว่าเป็นบริการที่ครอบคลุมถึงผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส จึงไม่น่าแปลกใจที่เซียงฮู่เป่ากลายเป็นแพล็ตฟอร์มประกันภัยออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างรวดเร็ว

 

จากสถิติผลประกอบการของแอ๊นท์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้พบว่า บริษัททำรายได้โดยรวม 72,500 ล้านหยวน และทำกำไรสูงถึง 21,200 ล้านหยวน โดยแจ็ก หม่าถือหุ้นแอ๊นท์อยู่มากกว่า 50% ผ่านบริษัทจุนฮั่น (Junhan) และจุนอ้าว (Junao) และมีกิจการต่างชาติรายใหญ่หลายรายเข้ามาร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย  

อาณาจักรแอ๊นท์กรุ๊ป  ในตลาดหลักทรัพย์จีน (2) 

อ่านประกอบ: 

อาณาจักรแอ๊นท์กรุ๊ป ในตลาดหลักทรัพย์จีน (1) 

 

มองย้อนกลับไป ธุรกิจของอาลีเพย์ บริการฟินเทคแรกเริ่มที่ก่อกำเนิดจนทำให้มีแอ๊นท์ในวันนี้ ก็ยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพโดยมีจำนวนผู้ใช้รวมมากกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลก โดยเป็นชาวจีนที่ใช้ประจำรวมถึง 900 ล้านคน แต่คู่แข่งอย่างวีแชตเพย์ก็เป็น “ภัยคุกคาม” ที่น่ากลัวเช่นกัน

 

ในปี 2019 มีลูกค้าใช้บริการโอนเงินผ่านอาลีเพย์เฉลี่ยวันละ 630 ล้านธุรกรรม ขณะที่วีแชตเพย์ให้บริการกว่า 1,500 ล้านครั้งต่อวัน อย่างไรก็ดี ลูกค้าใช้บริการโอนเงินผ่านอาลีเพย์ในมูลค่าต่อธุรกรรมที่สูงกว่าของวีแชตเพย์มาก โดยให้บริการโอนเงินถึง 17 ล้านล้านหยวนต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 55% ของตลาดโอนเงินดิจิตัลของจีนในปัจจุบัน อาณาจักรแอ๊นท์กรุ๊ป  ในตลาดหลักทรัพย์จีน (2) 

แอ๊นท์ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการใช้อาลีเพย์เป็นสะพานเชื่อมไปยังแพล็ตฟอร์มบริการทางการเงินอื่นได้อย่างยอดเยี่ยม จากข้อมูลในปีที่ผ่านมาระบุว่า 80% ของผู้ใช้บริการของอาลีเพย์จะเลือกใช้อย่างน้อย 3 ใน 5 ของบริการทางการเงินอื่นที่มีอยู่ ขณะที่ราว 40% จะใช้บริการทางการเงินทั้งหมดของแอ๊นท์ จึงไม่น่าแปลกจที่เราเห็นธุรกิจของแอ๊นท์ในวันนี้ก้าวไปไกลมากกว่าเพียงธุรกิจการโอนเงินทางดิจิตัลของอาลีเพย์ 

 

ลองจินตนาการดูว่า ในขณะที่รายได้ของอาลีเพย์ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หน่วยธุรกิจอื่นของแอ๊นท์ต้องเติบโตขึ้นด้วยความเร็วขนาดไหน จึงทำให้รายได้ของอาลีเพย์ต่อรายได้โดยรวมของกลุ่ม ซึ่งแต่เดิมเคยมีสัดส่วนมากกว่า 50% เมื่อปี 2018 ลดลงเหลือเพียง 36% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020

ในความพยายามที่จะนำแอ๊นท์เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์นั้น จากข้อมูลพบว่า ก่อนหน้านี้ แจ็ก หม่าก็วางแผนนำเอาธุรกิจนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกอยู่หลายครั้ง แต่ก็ติดปัญหาน้อยใหญ่จนต้องเลื่อนแผนมาเป็นระยะ 

 

ยกตัวอย่างเช่น การพลาดท่าสูญเสียสัดส่วนทางการตลาดให้แก่วีแช็ตเพย์ทำให้ต้องเลื่อนแผนในปี 2017 ขณะที่ผลจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ทำให้ต้องยกเลิกแผนการนำเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2018

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3626 วันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2563