การเมืองเปรูป่วนหนัก หลังรัฐสภาโหวต “ถอดถอน” ประธานาธิบดีพ้นตำแหน่งเซ่นคดีรับสินบน

10 พ.ย. 2563 | 23:37 น.

ประธานาธิบดีเปรูยอมลาออกวานนี้ (10 พ.ย. เวลาท้องถิ่น) หลังถูกรัฐสภาลงคะแนนให้ “ถอดถอน” เขาพ้นตำแหน่งในการประชุมสภาซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ฐานพัวพันคดีรับสินบน แต่เรื่องไม่จบง่ายๆ เมื่อฝูงชนออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านมติของรัฐสภา

 

นายมาร์ติน บิซการ์รา ประธานาธิบดีเปรู ประกาศว่าเขาจะไม่ยื่นฟ้องร้องคัดค้านต่อคำตัดสินของสภาคองเกรสและยินดี ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจาก สภาคองเกรสลงมติถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อกล่าวหารับสินบน นายบิซการ์รายืนยันว่าเขาไม่ได้กระทำผิด แต่จะไม่ดำเนินการทางกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติ เนื่องจากเขาไม่อยากให้สาธารณชนเข้าใจว่าจิตวิญญาณของการรับใช้ประชาชนของเขาเป็นเพียงเจตจำนงของการใช้อำนาจ

นายมาร์ติน บิซการ์รา

ทั้งนี้ รัฐสภา หรือ สภาคองเกรสของเปรูลงมติถอดถอนบิซการ์ราออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยกล่าวหาว่าเขารับสินบนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการอนุมัติสัญญางานจ้างสาธารณะ ขณะเขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแคว้นโมเกกัวระหว่างปี 2554-2557  คำร้องถอดถอนในข้อหา “ขาดคุณสมบัติทางศีลธรรมอย่างถาวร”  ต่อบิซการ์รา มีสมาชิกสภาฯ ลงมติผ่านเกณฑ์ 87 เสียง โดยคะแนนเสียงเห็นด้วยอยู่ที่ 105 เสียง ไม่เห็นด้วย 19 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง

 

อย่างไรก็ตาม สัญญาณความวุ่นวายทางการเมืองในเปรูเริ่มขึ้นหลังจากนั้น โดยสื่อรายงานว่าประชาชนจำนวนหลายพันคนได้ออกมาชุมนุมบนท้องถนนตั้งแต่คืนวันจันทร์ เพื่อคัดค้านการลงมติของสภาคองเกรสที่ให้ถอดถอนประธานาธิบดียอดนิยมของพวกเขา โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ข้อกล่าวหาการคอร์รัปชั่นเมื่อหลายปีก่อนนั้นไม่ได้รับการพิสูจน์

 

นอกจากนี้ ผู้ประท้วงยังประณามฝ่ายนิติบัญญัติ และเรียกร้องให้พวกเขาลาออก นักการเมืองหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในสภาคองเกรสได้ออกมาแสดงพลังร่วมกับผู้ชุมนุมประท้วง โดยระบุว่าการถอดถอนประธานาธิบดีครั้งนี้เป็น " รัฐประหารที่ปลอมตัวมา " บางคนบอกว่าประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะขึ้นมาแทน ควรถือว่าเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

การเมืองเปรูป่วนหนัก หลังรัฐสภาโหวต “ถอดถอน” ประธานาธิบดีพ้นตำแหน่งเซ่นคดีรับสินบน

ภายใต้ระบบของการสืบทอดอำนาจ ประธานสภานิติบัญญัติจะเข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีไปก่อน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์เรียกการกระทำของสมาชิกสภานิติบัญญัติว่าเป็นการ " คว้าอำนาจอย่างเปิดเผยและสุ่มเสี่ยง "

 

สตีฟ เลวิตสกี้ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเปรู เปิดเผยว่า การไล่ล่าประธานาธิบดีโดยไม่มีเหตุผลจริงจังใด ๆรองรับ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศสั่นคลอนท่ามกลางวิกฤต