วิเคราะห์นโยบายรัฐบาล 'โจ ไบเดน' ต่อเอเชีย เหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไป?

10 พ.ย. 2563 | 10:19 น.

ข่าวเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจมาพร้อมกับคำถามในหลายประเทศทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ว่า "นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่" ซึ่งจะเริ่มทำงานในปีหน้าจะมีผลต่อ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรและมากน้อยแค่ไหน

 

รายงานเชิงวิเคราะห์ของสำนักข่าวเอพีหลัง การเลือกตั้งประธานาธิบดี ระบุว่า ขณะที่ประเทศในเอเชียทราบข่าว ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ พร้อมความโล่งใจและมีความหวังเรื่องการกลับมาให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจนั้น ขณะเดียวกันบางประเทศในเอเชียก็มีความกังวลและเกรงว่าอาจจะถูกละเลยความสนใจได้เช่นกัน

 

นายโจ ไบเดน สมัยเป็นรองปธน.สหรัฐให้การต้อนรับนายสี จิ้นผิง ปธน.จีน ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในปี 2558

ท่าทีต่อจีน: ผ่อนคลายหรือแข็งกร้าว?

รายงานของเอพีเริ่มจาก “จีน” ซึ่งดูจะเป็นประเทศที่มีความสำคัญมากที่สุดในเอเชียในแง่ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยอาจารย์ Alexander Huang จากมหาวิทยาลัย Tamkang ในกรุงไทเป มองว่ารัฐบาลชุดใหม่ของประธานาธิบดีไบเดนจะมีท่าทีประจัญหน้ากับจีนน้อยลง และอาจจะเลือกไม่ใช้สงครามด้านการค้า

 

ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะปรับสัมพันธ์กับจีนปักกิ่งก็อาจเป็นผลให้วอชิงตันลดสุ้มเสียงเรื่องการสนับสนุนไต้หวันลง ถึงแม้สหรัฐฯ อาจจะไม่ละทิ้งพันธะผูกพันในการช่วยทำให้แน่ใจว่าไต้หวันจะสามารถปกป้องตนเองได้หากถูกคุกคามจากจีนปักกิ่ง

 

ความสัมพันธ์กับสองเกาหลี กับแนวโน้มที่เปลี่ยนไป

เอพีระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้พบปะกับนายคิม จอง อึน มาแล้วสามครั้ง ในลักษณะที่เป็นการประชุมสุดยอดเพื่อสร้างข่าว แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือยอมกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ของตน และคาดว่าผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่น่าจะใช้วิธีเจรจาที่เริ่มสร้างพื้นฐานจากความตกลงในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก่อน แต่ก็พร้อมจะใช้มาตรการลงโทษกับรัฐบาลกรุงเปียงยางหนักขึ้นจนกว่าเกาหลีเหนือจะยอมลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม

 

เอพีตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นายคิม จอง อึน จะต้องปรับตัวยอมรับบุคคลซึ่งครั้งหนึ่งสื่อโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือเคยโจมตีโดยใช้คำว่าเป็น "สุนัขบ้าที่จะต้องถูกตีให้ตาย"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

และสำหรับเกาหลีใต้เอง เอพีก็เชื่อว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จะยอมรับข้อผูกพันตามสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ มากกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ที่ประกาศลดระดับการซ้อมรบลงฝ่ายเดียว รวมทั้งได้พร่ำบ่นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สหรัฐฯ ต้องแบกรับสำหรับการมีทหารอเมริกัน 28,500 คนเพื่อช่วยปกป้องเกาหลีใต้จากการรุกรานของเกาหลีเหนือ

โจ ไบเดน เยือนญี่ปุ่นในปี 2556 ในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐ

ลอยแพญี่ปุ่น เผชิญหน้าจีนตามลำพัง?

เอพีมองว่า นโยบายของโจ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมจะมีส่วนช่วยบริษัทของญี่ปุ่นซึ่งทำธุรกิจในด้านนี้ อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Hiro Aida ของมหาวิทยาลัย Kansai ก็เกรงว่า ขณะที่วอชิงตันต้องยุ่งอยู่กับการฟื้นฟูตัวเองนั้น อเมริกาอาจไม่สามารถช่วยดูแลประเทศอื่นได้เท่าที่ควร

 

ส่วนนาย Peter Tasker นักวิเคราะห์ของ Arcus Research ก็บอกว่า ญี่ปุ่นอาจจะถูกปล่อยให้ต้องเผชิญหน้ากับจีนตามลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกรณีพิพาทด้านดินแดนในทะเลจีนตะวันออกที่มีอยู่กับจีน

 

เหล้าเก่าในขวดใหม่: อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

การวิเคราะห์ของเอพีเชื่อว่าการเปลี่ยนผู้นำสหรัฐฯ จะเป็นประโยชน์อย่างน้อยในด้านการค้าแบบทวิภาคี เช่น ในเรื่องผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของออสเตรเลียและสินค้าประเภทนมและเนื้อวัวจากนิวซีแลนด์ ภายใต้หลักการการค้าเสรีของสหรัฐฯ

 

สำหรับอินเดีย นาย Michael Kugelman รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียศึกษาของสถาบัน Wilson Center ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน จะให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่องการปฎิบัติด้านสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย และเสรีภาพของการนับถือศาสนาในอินเดียซึ่งถูกละเลยในช่วงของประธานาธิบดีทรัมป์ และคาดว่าทั้งสหรัฐฯ กับอินเดียคงจะทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อต้านทานอำนาจของจีนในเอเชีย

 

ความสำคัญของอาเซียนกับการคานอำนาจจีน

ทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจารย์ Bridget Welsh นักวิจัยกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัย Nottingham ในมาเลเซีย เชื่อว่าพลังอำนาจของสหรัฐฯ คงจะไม่เหมือนเดิม เพราะหลายประเทศในเอเชียหันไปพึ่งจีนเรื่องการลงทุนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น และว่า อาจจะต้องใช้เวลาสำหรับสหรัฐฯ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

 

นอกจากนั้นอาจารย์ Bridget Welsh ยังมองว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนจะใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศที่มีผู้ปกครองแนวอำนาจนิยม อย่างเช่นในฟิลิปปินส์และประเทศไทยด้วย

แรงกดดันทางประชาธิปไตยและสิทธมนุษยชนต่อประเทศไทย

ในส่วนที่เกี่ยวกับไทยนั้น รองศาสตราจารย์ธิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นไว้ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ว่า เมื่อเทียบกับรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งมีแรงจูงใจเรื่องผลประโยชน์มากกว่าค่านิยมแล้ว รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีไบเดนน่าจะให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพและปรับความสมดุลในเรื่องผลประโยชน์กับค่านิยมมากกว่ารัฐบาลชุดก่อน

 

และว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน จะมีแนวทางที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในการกำหนดนโยบายเหมือนสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา และจะอาศัยกลไกด้านการทูตมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของไบเดนจะถูกทดสอบโดยจีน คือหากประธานาธิบดีโจ ไบเดนอ่อนข้อกับจีนเหมือนสมัยประธานาธิบดีโอบามาแล้วเ ราจะได้เห็นการแผ่ขยายอำนาจของจีนในเอเชียมากขึ้น

 

และเชื่อว่าชัยชนะของโจ ไบเดน ก็น่าจะส่งผลดีต่อพลังที่เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยด้วย

 

ที่มา สำนักข่าววีโอเอ ไทย (VOA Thai)