ไทย-สหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี

11 พ.ย. 2563 | 04:50 น.

ไทย-สหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี: คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,626 หน้า 5 วันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน 2563

 

จากการทำวิจัยแบบสหสาขาวิชาร่วมกับคณาจารย์จากหลากหลายสาขาวิชา และหลากหลายมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้โครงการศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลงสู่ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ 

 

คณะวิจัยพบว่า ไม่ว่าพรรค Democrat หรือ Republican จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ในระยะสั้น (1-2 ปี) ต่อจากนี้ นโยบายการต่าง ประเทศของสหรัฐอเมริกายังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

ทั้งนี้เนื่องจากตั้งแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ ตระหนักแล้วว่า ภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดต่อสหรัฐฯ คือ การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นไม่ว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การบั่นทอน และการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน จึงเป็นภารกิจสำคัญที่สุด

 

นั่นหมายความว่าในระยะสั้น ในปี 2021-2022 สงครามการค้า ยังคงดำเนินต่อไป สหรัฐฯ ยังคงรักษามาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง อาจจะรักษาอยู่ในระดับเดิมในกรณีที่ Joe Biden ชนะการเลือกตั้ง แต่หาก ประธานาธิบดี Trump ยังคงดำรงตำแหน่งต่อเนื่องอีก 1 วาระ เราอาจจะเห็นสงครามการค้าที่รุนแรงยิ่งขึ้น 

 

แต่ในระยะกลาง (3-5 ปีข้างหน้า) หาก Joe Biden ชนะการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี เราจะเห็น การกลับมาใช้นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเชิงสถาบัน (Neo-Liberal Institutionism) ที่สหรัฐฯ จะเน้นการสร้างสถาบัน 

 

 

 

อาทิ องค์การระหว่างประเทศ ความร่วมมือ ข้อตกลงการค้าเสรี ในรูปแบบที่สามารถโดดเดี่ยวจีน และมีคุณสมบัติสำคัญอีก 3 ข้อ นั่นคือ 

 

1) สหรัฐฯ ต้องเป็นผู้ร่วมร่างและกำหนดทิศทางการร่างกฎกติกา 

 

2) สหรัฐฯ ต้องเป็นกรรมการผู้ควบคุมกฎกติกา 

 

และ 3) สหรัฐฯ เข้าเป็นผู้เล่นในเวทีดังกล่าว

 

 

ไทย-สหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี

 

 

ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตประธานาธิบดีจากพรรค Democrat นิยมดำเนินนโยบายในลักษณะนี้อยู่แล้ว 

 

ตัวอย่างคือ ในสมัย Bill Clinton ที่ควบคุมกฎกติกาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) และ เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement: NAFTA) หรือในสมัยของ Barack Obama ที่พยายามควบคุมกฎระเบียบในการเจรจาการค้าภายใต้กรอบ Trans-Pacific Partnership: TPP

 

 

 

เชื่อว่าหาก Joe Biden ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ในระยะสั้นสงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป และในระยะกลาง ทางเลือกของสหรัฐฯ คือการกลับเข้าสู่การเจรจาการค้าเสรี ซึ่งตัวเลือกที่เป็นไปได้คือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP และ/หรือ การเปิดเวทีเจรจาการค้าในกรอบใหม่ๆ เพื่อโดดเดี่ยวจีน ซึ่งยุทธศาสตร์ Indo-Pacific Strategy อาจจะถูกนำมาขยายขอบเขตจนกลายเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ในนาม Indo-Pacific Economic Cooperation ก็มีความเป็นไปได้