การบินไทย หวัง แผนปั๊มรายได้ "ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา" 4 แสนล้าน

09 พ.ย. 2563 | 03:06 น.

การบินไทย ฝากความหวังศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ปั๊มรายได้ 4.05 แสนล้านบาท ยํ้าไม่ลงทุนที่ทับซ้อน จะลงเงินปลายปี 66 พร้อมวางเป้าหมายบูรณาการพัฒนาสร้างเครือข่ายหาเงินเชื่อมโยงศูนย์ซ่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิ สร้างเซอร์วิสที่แตกต่างกัน มั่นใจ MRO เป็นรายได้อย่างยั่งยืนของบริษัท

            ทันทีที่เจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบแผน ฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ก็พร้อมที่จะเดินหน้าโครงการ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO)อู่ตะเภา เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ในการพัฒนาโครงการนี้มาโดยตลอด

การบินไทย หวัง แผนปั๊มรายได้ "ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา" 4 แสนล้าน

            รวมทั้งยังได้ร่วมกันทบทวนและศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนใหม่ จากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยใช้สมมติฐานว่าสถานการณ์จะรุนแรงที่สุด การฟื้นตัวยืดเยื้อยาวนาน อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวใน 28 เดือนและจำนวนเครื่องบินที่ต้องการซ่อมบำรุงจะลดลง 30%

            ทำให้ได้มีการปรับอัตราผลตอบแทนในการลงทุนในโครงการนี้ใหม่ โดยคาดว่าหลังโควิด-19 โครงการนี้จะมีผลตอบแทนของโครงการอยู่ที่ 12.04% จากผลศึกษาเดิมเมื่อปี61 วางไว้ที่13.68% มีรายได้ของโครงการในช่วง 50 ปีอยู่ที่ 405,216 ล้านบาท จากเดิมวางไว้ที่ 558,181 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน น่าจะอยู่ที่ 11.24 ปี

            ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็น บริษัทร่วมทุน ที่การบินไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมี 6 กลุ่มเป้าหมาย คือ MRO , สายการบิน,ผู้ผลิตเครื่องบิน,แอร์ไลน์ MRO,แลนด์ลอดจ์(อีอีซี),พันธมิตรทางการเงิน โดยจะใช้เวลาแสวงหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงกรกฏาคมปี64 จากนั้นการบินไทยจะลงนามในสัญญาร่วมทุนในเดือนกรกฏาคมปี64 และลงนามในสัญญาเช่าที่ดินกับภาครัฐ(สกพอ.) หรือ อีอีซี ในเดือนสิงหาคมปี64

            จากนั้นระหว่างปี63-67 จะเป็นงานก่อสร้าง MRO อู่ตะเภา โดยภาครัฐลงทุนสร้างโรงซ่อมอากาศยาน(โครงสร้างพื้นฐาน) ส่วนการลงทุนของการบินไทยในโครงการนี้กว่าจะลงเงิน ราว 4,016 ล้านบาทในช่วงปี66-68 ก็จะอยู่ในช่วงปลายปี2566-2567 โดยจะเป็นการลงทุนเครื่องมืออุปกรณ์ที่เน้นการซ่อมบำรุงแบบดิจิทัล ไม่ใช่การซ่อมบำรุงแบบเดิมๆที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เพื่อไปต่อยอดธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

            ไม่ใช่เป็นการลงทุนในขณะที่มีวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากMRO เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนรายได้อย่างยั่งยืนของการบินไทยโดยMRO อู่ตะเภา จะเปิดดำเนินการได้ในราวเดือนมีนาคมปี2567

การบินไทย หวัง แผนปั๊มรายได้ "ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา" 4 แสนล้าน

            ขณะเดียวกันการบินไทยจะพัฒนาให้ธุรกิจ MRO เสริมกันทั้ง 3 ฐานปฏิบัติการ (ดอนเมือง ,สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) สร้างเครือข่ายและดึงดูดลูกค้า

            1.การให้ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ดำเนินการซ่อมบำรุงอากาศยานลำตัวกว้าง-แคบรุ่นใหม่ ปนกันไป ซึ่งเมื่อเครื่องบินลงมาก็จะรับหมดและส่งงานให้กัน และการให้บริการพ่นสีแบบสมัยใหม่กว่า

            2.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง จะดำเนินการซ่อมบำรุงอากาศยานลำตัวแคบ และถ้าลูกค้าสะดวกพ่นสีก็ทำได้ ซึ่งเครื่องบินลงมารับหมดและส่งงานให้กัน

            ไม่ว่าลูกค้าจะลงที่ไหน อะไรถอดได้ก็ส่งไปดอนเมือง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางซ่อมชิ้นส่วนสำคัญๆ อาทิ ศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์อากาศยาน (มี Test Cell ทดสอบเครื่องยนต์ขนาดใหญ่  ศูนย์ซ่อมบริภัณฑ์หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์อื่นๆ และศูนย์กลางงานห้องปฏิบัติการสอบเทียบ (Calibration Lab)

            3. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันก็เป็นเสมือนสำนักงานกลาง ซึ่งจะพัฒนาเป็น Digital Maintenance Control Center สำหรับ Smart Hangar (โรงซ่อมอัจฉริยะ) และการตลาดการรับลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ

            นอกจากนี้ยังจะต้องพัฒนาทั้ง 3 ฐานปฏิบัติการ ให้ดำเนินงานด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด หรือ Line Maintenance เพราะเป็นรายได้หลัก และการบินไทยมีวิศวกรที่มีใบอนุญาตและมีช่างที่มีฝีมือมากที่สุดในประเทศไทย

            การลงทุนMROอู่ตะเภา ไม่ได้เป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน แต่เป็นการสร้างเครือข่ายการซ่อมบำรุงอากาศยาน ให้ครบวจรมากขึ้น และที่สำคัญต้องส่งมอบเครื่องบินให้การบินไทยนำไปบินสร้างรายได้ (Less time in Hangar, More time on the air) ได้เป็นกอบเป็นกำตามที่ Smart TPI (ตารางบินอัจริยะ) ไม่ทำให้แผนการขายและกลยุทธ์การตลาดต้องติดขัด เพราะการส่งมอบเครื่องบินล่าช้า ไม่ได้สร้างใดๆให้มาทับซ้อนกัน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งยังเสริมพลังการฟื้นมายิ่งใหญ่ยั่งยืนให้การบินไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
DN การบินไทย “วิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์” ยื่นลาออก มีผล 1 ธันวาคมนี้
ครัวการบินไทย เปิด Kiosk แห่งแรก"ขายปาท่องโก๋การบินไทย"
THAI เดินหน้าหาผู้ร่วมทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานรายใหม่หลังแอร์บัสปฏิเสธ