"หมอธีระ"ลดวันกักตัว นำไปสู่หายนะการระบาดซ้ำของโควิด-19

08 พ.ย. 2563 | 10:13 น.

"หมอธีระ" ย้ำชัด ลดวันกักตัว เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโควิด -19 แพร่ไปสู่ชุมชนอย่างแน่นอน พร้อมหวั่นใจจะเกิดการระบาดทั้งสายพันธุ์ G ที่แพร่มากสุดและสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat " เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ 


ฟังการแถลงข่าววันนี้หลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องลดวันกักตัว


การอ้างถึงข้อมูลการตรวจคนที่เดินทางกลับมาจากซูดานใต้ 77 ราย ว่าตรวจพบเฉพาะในช่วงเวลา 10 วัน แล้วจะนำมาใช้พิจารณาชงนโยบายนั้นน่าจะไม่ถูกต้อง หากเป็นคนกลุ่มเดียวกันทั้งหมดที่มีลักษณะพื้นฐานคล้ายหรือเหมือนกัน


เพราะส่วนตัวแล้ว ผมสันนิษฐานว่ากลุ่มดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นกลุ่มนายทหารที่กลับจากปฏิบัติภารกิจมาพร้อมกัน ซึ่งการเป็นอาชีพเดียวกัน กลุ่มเดียวกันเช่นนี้ จะมีโอกาสที่เกิดการสัมผัสเชื้อมาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันหรือเหมือนกัน ระยะเวลาตรวจพบจึงคล้ายกันหรือเหมือนกัน


ในขณะที่นโยบายลดวันกักตัวเหลือ 10 วันนั้นจะใช้สำหรับคนทั่วไปที่เดินทางจากที่ที่หลากหลาย ต่างคนต่างอาชีพ ช่วงเวลาที่สัมผัสเชื้อมาก็มีความแตกต่างกัน 


กรณีของการเหมารวมเปรียบเทียบผลจากกลุ่มคนข้างต้นมาใช้สำหรับคนอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้ เราไม่สามารถนำมาใช้ได้ พูดเชิงเทคนิคคือ ไม่สามารถ generalize ได้ครับ  


ในภาษาวิชาการระบาดและระเบียบวิธีวิจัยนั้นเราถือเป็นตัวอย่างของอคติที่เกิดจากผลของความแตกต่างของกลุ่มประชากร เรียกว่า "cohort effect"
 

หากฟังการแถลง โดยไม่รู้เท่าทัน ก็จะไม่สามารถโต้แย้งได้ และยิ่งหากตอนแถลงนั้นไม่ได้เปิดเผยว่ากลุ่มคนที่กล่าวถึงนั้นเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถโต้แย้งได้เลย และเออออห่อหมกไปโดยปริยาย


ตามหลักวิชาการแพทย์ ผมยังยืนยันว่า ระยะเวลาหลังติดเชื้อจนถึงเริ่มมีอาการ ที่เรียกว่า "ระยะฟักตัว"โดยเฉลี่ยของคนที่ติดเชื้อโควิดคือ 2-14 วัน 


การลดวันกักตัวลง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหลุดรอดไปสู่ชุมชนอย่างแน่นอน และจะนำไปสู่หายนะการระบาดซ้ำได้ 


ยิ่งหากเราตามข่าวจะพบว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ บางสายพันธุ์ที่ติดเชื้อในตัวมิ้งค์ที่ประเทศเดนมาร์กนั้น มีรายงานออกมาว่ามีการติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ และที่น่าวิตกคือ สายพันธุ์นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนหนามของไวรัสทำให้ตัวไวรัสค่อนข้างดื้อต่อแอนติบอดี้ของไวรัสสายพันธุ์เดิม จนทำให้เรากำลังหนักใจว่า อาจทำให้วัคซีนที่ทำวิจัยกันอยู่นั้นได้ผลน้อยลงหรือไม่ได้ผลได้ จึงเป็นที่มาของการที่เดนมาร์กกำลังพยายามดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อกำจัดตัวมิ้งค์ 15-17 ล้านตัว เพื่อตัดวงจรการระบาด ไม่ให้แพร่ออกไปสู่ภายนอกประเทศ
 

ไวรัสนี้สามารถติดเชื้อในสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวมิ้งค์ หมา แมว ฯลฯ ได้ด้วย ทำให้ต้องระมัดระวังอย่างสูงในการนำเข้าทั้งคนและสัตว์จากต่างประเทศ


อุตสาหกรรมขนสัตว์จากตัวมิ้งค์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ นั้น นอกจากเดนมาร์กแล้วยังมีอีกหลายประเทศในยุโรปที่ทำอุตสาหกรรมนี้ และจำเป็นต้องมีการช่วยกันระมัดระวัง เช่น โปแลนด์ รวมถึงประเทศจีน


หวังใจว่า จะไม่เกิดการระบาดทั้งสายพันธุ์ G ที่แพร่มากสุดในปัจจุบัน และสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขอให้เราป้องกันตัวเสมอในการใช้ชีวิต