โพลชี้ "ศึกชิง นายก อบจ." เลือกตัวบุคคล ไม่เน้นสังกัดพรรค

08 พ.ย. 2563 | 02:44 น.

นิด้าโพล เผย ผลสำรวจ "การตัดสินใจเลือก นายก อบจ." พบประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 เตรียมไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะส่วนใหญ่ ระบุ จะพิจารณาจากตัวบุคคล นโยบาย และความสามารถเป็นหลัก พรรคการเมืองไม่มีผล

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การตัดสินใจเลือก นายก อบจ.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 5 พฤศจิกายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ สมาชิกสภา อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก  (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ สมาชิกสภา อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.03 ระบุว่า ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง ขณะที่ ร้อยละ 15.09 ระบุว่า ไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง และร้อยละ 4.88 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจได้เวลาเลือก นายก อบจ. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง และไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่ มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านประเด็นสถานการณ์การเมืองระดับประเทศในปัจจุบัน กับการมีผลต่อการตัดสินใจเลือก นายก อบจ. พบว่า ผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงและไม่แน่ใจว่าจะไป ร้อยละ 20.20 ระบุว่า มีผลมากต่อการตัดสินใจ เพราะ จากสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ ทำให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายว่าจะเลือกคนไหน ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะไม่เลือกบุคคลที่มาจากฝ่ายรัฐบาล ร้อยละ 17.68 ระบุว่า ค่อนข้างมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะ ต้องดูก่อนว่าบุคคลที่จะเลือกมีส่วนเกี่ยวข้องกับใครที่อยู่ในประเด็นสถานการณ์การเมืองตอนนี้หรือไม่ ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะเลือกบุคคลที่สังกัดพรรคที่ตนเองชื่นชอบ ร้อยละ 9.43 ระบุว่า ไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะ สถานการณ์การเมืองตอนนี้ไม่ได้กระทบต่อการเลือกตั้ง นายก อบจ. เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งแบบท้องถิ่น ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองระดับประเทศอยู่แล้ว ร้อยละ 52.06 ระบุว่า ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลย เพราะ การชุมนุมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง นายก อบจ. ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการเลือกตั้งเพื่อเข้ามาทำงานให้กับระดับจังหวัด ไม่เกี่ยวกับระดับประเทศ และร้อยละ 0.63 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อร้อง กกต.สอบคณะก้าวหน้า ฟันผิดส่งผู้สมัครนายก อบจ.

สำหรับการตัดสินใจของประชาชนในการเลือก นายก อบจ. และ สมาชิกสภา อบจ. ที่สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเดียวกัน พบว่า ผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงและไม่แน่ใจว่าจะไปส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.06 ระบุว่า ไม่เลือกที่สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเดียวกัน เพราะ ดูที่ตัวบุคคล นโยบาย ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานการทำงานที่ผ่านมา ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชอบแบบไม่สังกัดพรรค ขณะที่ ร้อยละ 28.19 ระบุว่า เลือกที่สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเดียวกัน เพราะ ง่ายต่อการทำงาน การดำเนินงานหรือการเสนองบต่าง ๆ มีความสะดวก รวดเร็ว ไม่มีความขัดแย้ง และร้อยละ 19.75 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกอย่างไร

โพลชี้ "ศึกชิง นายก อบจ." เลือกตัวบุคคล ไม่เน้นสังกัดพรรค

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อการเปลี่ยน นายก อบจ. ในเขตจังหวัด พบว่า ผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงและ ไม่แน่ใจว่าจะไปส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.31 ระบุว่า อยากเปลี่ยนนายก อบจ. รองลงมา ร้อยละ 32.40 ระบุว่า ไม่อยากเปลี่ยนนายก อบจ. ร้อยละ 19.30 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจได้เวลาเลือก นายก อบจ. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไม่อยากเปลี่ยนนายก อบจ. มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า อยากเปลี่ยนนายก อบจ. และยังไม่แน่ใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 28.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 19.89 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 36.81 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.01 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.99 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 6.86 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.62 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.88 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.37 มีอายุ 46 – 59 ปี     และร้อยละ 21.27 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.59 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.89 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 1.52 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 19.74 สถานภาพโสด ร้อยละ 75.76 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.67 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.83 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
 

ตัวอย่างร้อยละ 30.79 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 31.63 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.31 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 22.26 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.03 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.98 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 11.28 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.27 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.11 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.86 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.39 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.75 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.98 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.36 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 17.23 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 27.97 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.45 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 4.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 –  40,000 บาท  ร้อยละ 6.40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.55 ไม่ระบุรายได้