สธ.แจงยิบขรก.เกษียณวัย 66 “โควิด”คร่าชีวิตรายที่ 60

06 พ.ย. 2563 | 10:28 น.

สธ.แจงยิบ ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตรายที่ 60 ชายไทยวัย 66 ปี ขรก.เกษียณ กลับจากอังกฤษ มีโรค“เบาหวานประเภท 2-ความดันโลหิตสูง” เผยศบค.ไฟเขียวลดเวลากักตัวผู้เดินทางเข้าปท.เหลือ 10 วัน รอเคาะวันดีเดย์

 

วันนี้ (6 พ.ย.63) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.กองระบาดวิทยา แถลงข่าวเรื่องลดวันกักตัว และสถานการณ์ในภาพรวมโรคโควิด-19

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 สะสมในประเทศไทย วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย ประกอบด้วย สถานที่กักกันที่ราชการกำหนด 5 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย ซึ่งเป็นพนักงานขับรถจากประเทศเมียนมาที่ชายแดนแม่สอด โดยทั้ง 3 ราย ไม่ได้ลงจากรถ เมื่อข้ามฝั่งมาก็จะมีจุดให้ขนถ่ายสินค้าและกระบวนการขนถ่ายสินค้าคนไทยจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยพนักงานขับรถไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากรถ ซึ่งติดเชื้อมาจากประเทศเมียนมาและได้ส่งกลับไปรักษาที่ประเทศเมียนมาเรียบร้อยแล้ว

 

มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,818 ราย มาจากต่างประเทศ 1,367 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,451 ราย กลับบ้านแล้ว 3,639 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาล 119 ราย เสียชีวิต 60 ราย

 

โดยผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันเสียชีวิตในประเทศไทยรายที่ 60 เป็นเพศชาย อายุ 66 ปี สัญชาติไทย อาชีพเกษียณอายุราชการ มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวานประเภท 2 ความดันโลหิตสูง เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 และเข้ารับการกักตัวที่ SQ จ.ชลบุรี วันที่ 20 ตุลาคม 2563 พยาบาล SQ พบว่า มีอาการหอบเหนื่อย จึงนำส่งรพ.บางละมุงจ.ชลบุรี ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ และแผนกฉุกเฉินเก็บตัวอย่าง NPS และ throat swab ให้ผลบวกด้วยวิธี PCR ซึ่งมีการแถลงข่าวเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ลำดับที่ 3719 วันที่ 22 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ได้รักษาโดยให้ยาฟาวิพิราเวียร์ และเรมดิซิเวียร์

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ทำให้เลือดเป็นกรด ระบบหายใจล้มเหลว ช็อก ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต

 

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วยทั่วโลก 48,993,952 คน โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส เป็น 5 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ส่วนผู้เสียชีวิตสะสม 123,876 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 8,712 ราย ในภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลกยังมีการระบาดอยู่มาก

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า คาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย 3 รูปแบบในระยะต่อไป คือ

 

1.สถานการณ์ที่ป้องกันโรคได้ดี (Spike) คือมีผู้ติดเชื้อ 1 - 2 ราย และไม่มีผู้ติดเชื้อต่อสามารถควบคุมได้ เช่น เคสดีเจ และเคสหญิงชาวฝรั่งเศสที่เกาะสมุย

 

2.สถานการณ์ที่ควบคุมโรคได้เร็ว (Spike with Small Wave) คือมีสถานการณ์และควบคุมได้ดี ติดเชื้อต่อวันไม่เกิน 50 คน เช่น เคสแม่สอดมีคนเข้ามาแล้วติดเชื้อในครอบครัวและมีผู้ติดเชื้อต่อ 5 คน จากนั้นก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

 

และ 3.สถานการณ์ที่ควบคุมโรคได้ช้า (Spike with Big wave) ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศ

 

 

พญ.วลัยรัตน์ กล่าวถึงกรณีหญิงชาวฝรั่งเศส ที่ตรวจพบเชื้อภายหลังที่ออกจากสถานกักกันโรค 14 วันว่า การสอบสวนโรคเพิ่มเติมกรณีหญิงชาวฝรั่งเศส อายุ 57 ปี ที่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เริ่มมีอาการป่วย ซึ่งในขณะนั้นได้ออกจากสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine) ใน จ.สมุทรปราการ ไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ทำการตรวจหาเชื้อ และเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการสอบสวนโรคผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำ ไม่พบเชื้อทุกราย หลังจากนั้นมีการตรวจเชื้อในสิ่งแวดล้อม พบเชื้อซากเชื้อไวรัสในห้องฟิตเนส ซึ่งไม่สอดคล้องกับผู้ติดเชื้อรายนี้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อไม่ได้เข้าไปในห้องฟิสเนต จึงเป็นคำถามว่า ผู้ติดเชื้อชาวฝรั่งเศสติดเชื้อจากที่ใด

 

การสอบสวนโรคในสถานกักกันโรคเดียวกัน พบผู้ติดเชื้อในเวลาใกล้เคียงกันรวมหญิงชาวฝรั่งเศส จำนวน 3 ราย หลังจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งสาย พบว่า เป็นสายพันธุ์เดียวกัน และมีลักษณะส่วนใหญ่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเชื่อว่าทั้ง 3 ราย มีความเกี่ยวข้องกัน จึงได้สอบสวนโรคทบทวนอีกครั้งในระบบที่อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อในโรงแรม แม้ว่าโควิด-19 จะมีการแพร่เชื้อด้วยละอองฝอยขนาดใหญ่ไม่ใช่การแพร่ทางอากาศ แต่จะต้องมีการตรวจสอบระบบให้ครบถ้วน เพื่อให้พิสูจน์ได้ว่าไม่ได้แพร่เชื้อไปทางอากาศจริง

 

พญ.วลัยรัตน์ กล่าวว่า วิศวกรเชี่ยวชาญจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับทีมพยาบาล ที่ดูแลการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล จากสถาบันบำราศนราดูร ตรวจสอบใน 3 ระบบ คือ

 

1.ระบบแอร์ พบว่าใช้ระบบแอร์ Chiller AHU ซึ่งระบบหมุนเวียนอากาศจะอยู่ภายในห้องไม่สามารถข้ามไปยังห้องข้างเคียงได้

 

2.ระบบถ่ายเทอากาศ มีพัดลมดูดอากาศในห้องน้ำ ซึ่งเป็นระบบพ่วงกับสวิตซ์ไฟปิด-เปิด ตัวดูดอากาศมีแผ่นแรงดันย้อนกลับเข้าห้อง จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่ระบบอากาศจะปะปนไปยังห้องข้าวเคียงหรือห้องตรงข้าม

 

และ 3.ระบบน้ำทิ้ง ระบบ core I-Tap ในแต่ละห้อง ท่อชาร์ปวิ่งในแนวดิ่ง ไม่ข้ามฝั่งไปยังห้องตรงข้าม แต่จะคู่กับห้องที่ติดกัน โดยห้อง 605 คู่กับ 607 และ 609 คู่กับ 611

 

ทั้งนี้ ห้องที่ผู้ติดเชื้อทั้ง 3 ราย พักอยู่ใกล้กัน คือ รายที่ 1 พักห้อง 609 เข้าพักเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม รายที่ 2 พักห้อง 631 เข้าพักเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม และตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม และหญิงฝรั่งเศสพัก ห้อง 607 ออกจากสถานกักกันฯ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม

 

ดังนั้น ช่วงเวลาที่ทั้ง 3 ห้องอยู่ร่วมกันคือ วันที่ 12-15 ตุลาคม จะต้องมาศึกษาว่าจะแพร่เชื้อต่อกันทางใด จึงต้องเก็บตัวอย่างเชื้อจากช่องลม ช่องแอร์เพื่อไปหาว่าสามารถแพร่เชื้อระหว่างห้องได้หรือไม่ หรือมีการรั่วซึมของท่อหรือไม่ ขณะนี้ จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายที่ 1 ที่พักห้อง 631 เปิดประตูออกไปบริเวณโถงทางเดินที่ไม่มีระบบระบายอากาศ แล้วเชื้อโควิด-19 จะอยู่ในอากาศบริเวณนั้น ซึ่งไวรัสมีความสามารถอยู่ในอากาศที่นิ่งได้นานถึง 3 ชั่วโมง

 

นอกจากนี้ระหว่างห้องตรงข้ามกัน มีความกว้างโถงทางเดิน 1.8 เมตร และหน้าห้องแต่ละห้องมีโต๊ะสำหรับวางอาหาร จากข้อสันนิษฐาน อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อเชื้อจากรายที่ 1 ลอยออกจากห้องไปแล้ว ไปตกอยู่บนโต๊ะ หรือหากมีอาหารวางหน้าห้อง ก็จะลอยไปติดอยู่บนภาชนะ ซึ่งเป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเชื้อโรคจะติดต่อบริเวณหน้าห้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อทั้ง 3 ราย ว่าในระหว่างที่ออกมานอกห้อง ได้สวมหน้ากากอนามัยหรือแตะอะไรหรือไม่ และรอผลการตรวจหาเชื้อในระบบช่องแอร์ ช่องอากาศ เพื่อหาข้อสรุปต่อไป

 

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องลงไปดำเนินคือ หาข้อมูล หลักฐานเพื่อยืนยัน สิ่งที่เราคิดว่าเกิดจากอะไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีก สิ่งที่เราได้เพิ่มเติมจากที่เคยแถลงไปครั้งก่อนคือ เมื่อถอดรหัสพันธุกรรม และให้ผู้เชี่ยวชาญมานั่งวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน พบว่าเชื้อในผู้ติดเชื้อ 3 รายในห้องใกล้เคียงกัน เป็นเชื้อกลุ่มและสายพันธุ์เดียวกัน มีรหัสพันธุกรรมที่ค่อนข้างตรงกัน แปลความได้ว่ามีความเชื่อมโยงกัน

 

และมีสมมติฐานว่า การติดเชื้อเกิดจากการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี รวมถึงเชื้ออาจปนเปื้อนในพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งจะต้องสอบสวนโรคเพิ่มเติม ทั้งนี้เราจะต้องไปย้ำให้สถานกักกันโรค เน้นย้ำเรื่องทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง ระบบระบายอากาศให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น

 

ส่วนนพ.โสภณ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เริ่มรู้จักเชื้อโควิด-19 พอสมควร โดยการลดการกักตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจากเดิม 14 เหลือ 10 วัน ใช้อ้างอิงตามหลักวิชาการประกอบ พบว่าเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการในช่วงวันที่ 5-7 ซึ่งการลดการกักตัวนี้ไม่ใช่จะทำในทุกประเทศเหมือนกันหมด แต่จะทำให้กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ

 

โดยข้อมูลจากจากการประเมินความเสี่ยงของประเทศที่เดินทางเข้าไทย พบว่ากลุ่มประเทศที่มีอัตราเสี่ยงต่ำน้อยว่าไทย มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่า 60 คน ต่อ 1 ล้านประชากร ได้แก่ ไต้หวันและเวียดนาม

 

ส่วนประเทศที่มีอัตราเสี่ยงเท่ากับไทย มีอัตราป่วย 60 คน ต่อ 1 ล้านประชากร ได้แก่ จีน มาเก๊า ส่วนกลุ่มประเทศที่มีอัตราติดเชื้อมากกว่าไทย แบบ +1 พบผู้ป่วยได้ 1,000 คนต่อ 1 ล้านประชากร ได้แก่ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มประเทศ ที่มีอัตราการติดเชื้อมากกว่าไทยแบบ +2 และมีอัตราป่วย 10,000 คนต่อ 1 ล้านประชากร ได้แก่ รัสเซีย อิตาลี และสิงคโปร์ ส่วนประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อมากกว่าไทย แบบ+3 และมีอัตราป่วยติดเชื้อมากกว่า 20,000 คนต่อ1 ล้านประชากรได้แก่ สหรัฐ บราซิล และฝรั่งเศส

 

สำหรับการตรวจหาเชื้อ ในกรณีกักตัว 10 วัน ด้วย วิธี RT-PCR จะตรวจ 3 ครั้ง ในวันแรกรับ, วันที่ 5 และวันที่ 9 ส่วนก่อนเข้าไทย ยังเหมือนเดิม ทั้งมีการตรวจวัดไข้ และตรวจเอกสาร มีการทำประกันสุขภาพ ไว้ ส่วนการออกนอกพื้นที่กักตัวหลังครบ 10 วัน ต้องมีการติดตามด้วยระบบแอพพลิเคชัน และมีการสวมหน้ากาอนามัย หมั่นล้างมือ เลี่ยงการเดินทางสถานที่แออัด

 

นพ.โอภาส เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวว่า ทางกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ได้ทบทวนข้อมูลทั้งหมด ทั้งจากต่างประเทศและข้อมูลของเราเอง รวมทั้งการหาวิธีการในการปรับระบบการกักกันโรค 10+4 คือการกักกันในสถานที่ 10 วัน และการติดตามตัวอีก 4 วัน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ฯลฯ รวมถึงกรมการแพทย์ และมีคณะกรรมการวิชาการในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะผู้ปฏิบัติ

 

“เมื่อวานที่ผ่านมาที่เรียกว่าศปก.สธ. ทุกคนเห็นข้อมูลและสิ่งที่กรมควบคุมโรคดำเนินการในการทดสอบระบบจริงที่ได้นำเสนอไป ทุกคนได้เห็นพ้องต้องกันว่า ในข้อมูลปัจจุบันการปรับระบบกักตัวกักกันโรคใหม่ 10+4 เป็นไปได้ โดยขอให้ดำเนินการ

 

1. เริ่มต้นในประเทศที่มีความเสี่ยงเท่ากับประเทศไทยหรือเสี่ยงน้อยกว่า ข้อมูลจะเปลี่ยนไปรายสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้จะมีประเทศจีน มาเก๊า ไต้หวัน และประเทศเวียดนาม ที่จะสามารถเริ่มได้เลย

 

2.จะต้องมีการตรวจเชื้อบ่อยขึ้นจากเดิม 2 ครั้งเป็น 3 ครั้ง ตรวจเลือดวันแรกกับวันสุดท้ายก่อนออก จากนั้นวันที่ 11-14 จะมีระบบติดตามตัว ทั้งนี้ทางกระทรวงดีอีเอสได้ร่วมมือกับเราในการดำเนินการ

 

ส่วนคำถามที่ว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ทางกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อม จะเห็นว่าได้ไล่เรียงทุกเหตุการณ์จนครบ 14 วัน ขณะนี้รอความเห็นชอบจากศปค.อีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อช่วงเช้าได้ไปประชุมที่ศปก.ศปค.เรียบร้อยแล้ว ได้นำเสนอที่ประชุมก็เห็นชอบในหลักการ สุดท้ายก็อยู่ที่ศปค.ใหญ่ว่าจะให้เริ่มได้เมื่อไหร่ คงต้องดูตามความเหมาะสม

 

ขอย้ำอีกครั้งว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อม ถึงแม้ว่าเราดูแล้วว่าความเสี่ยงน้อยมาก หรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่หากเกิดอะไรขึ้น มีผู้ติดเชื้อ ระบบของกระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมจะรองรับ ตัวอย่างที่เห็นคือ กรณีของชาวฝรั่งเศส หรือนักการทูตต่างประเทศ เป็นระบบที่บอกว่าในกรณีที่เกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อเข้ามา เราสามารถควบคุมโรค และตรวจจับได้เร็ว เพื่อไม่ให้โรคระบาด

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความร่วมมือของประชาชนสำคัญมาก การใส่หน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรค และย้ำอีกครั้งเวลาที่อยู่ในที่สาธารณะ ถ้าเป็นไปได้ให้ใส่หน้ากากอนามัย 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ถ้ามีอาการสงสัยให้ไปพบแพทย์ เพราะเดี๋ยวนี้การตรวจโควิดในประเทศไทย ถ้ามีอาการสงสัยสามารถตรวจได้ฟรี และมีห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้ทั่วประเทศมากกว่า 200 ห้อง

 

เมื่อถามว่ามีแผนรองรับหรือไม่ว่าต้องมีผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ถึงจะลดระยะเวลาในการกักตัว นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ต้องดูตามสถานการณ์ ในกรณีที่เกิดผู้ติดเชื้อเข้ามาในประเทศไทย ถ้าเราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีไม่มีผู้ติดเชื้อเกิน 50 คนต่อวัน ถือว่ายังอยู่ในแบบจำลอง Spike with Small Wave ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เรารองรับได้ เพราะระบบสาธารณสุขสามารถดูแลผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ได้วันละหลายร้อยคน และเราก็เชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นมา