คณะสังคมวิทยาฯล่าชื่อ จี้ “อธิการบดี “ ม.ธรรมศาสตร์ลาออก

06 พ.ย. 2563 | 09:26 น.

ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ จำนวน 256 รายชื่อ จี้ อธิการบดีลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบทั้งกรณีการชุมนุม-พิธีรับปริญญา

วันที่ 6 พ.ย.2563 แฟนเพจเฟซบุ๊ก งานกิจกรรมนักศึกษาสังคมวิทยาฯ มธ.คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน พร้อม 256 รายชื่อเรื่องข้อเรียกร้องต่อ “ธรรมศาสตร์” ขอให้คุ้มครองสวัสดิภาพและปกป้องเสรีภาพของประชาชน

 

แถลงการณ์ระบุว่า กรณี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษย วิทยา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ รวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ ถูกจับกุมและนำตัวไปฝากขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิง ในฐานะผู้ต้องหาในคดีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19–20 ก.ย.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 6 พ.ย.63

จ่อตั้งวอร์รูม เกาะติดสถานการณ์ม็อบชุมนุมใหญ่ 8 พ.ย.

“ปรองดอง”แท้ง มวลชน“ม็อบ”ลด

 

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมเวลาเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค.นี้ กรณีการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 16 ต.ค.นี้ และกรณีเหตุการณ์ในระหว่างการปล่อยตัวรุ้ง เพนกวิน และไมค์ จากเรือนจำในช่วงวันที่ 31 ต.ค.นี้ รวมไปถึงการดำเนินคดีกับนักศึกษาคนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา

ประกอบกับกรณีการตรวจเพื่อรักษาความปลอดภัยทางกายภาพและขั้นตอนในการตรวจสุขภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2561 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30–31 ต.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเกี่ยวกับการส่งมอบข้อมูลผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรโดยมหาวิทยาลัย

 

หากแต่การเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้นกลับเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดแต่อย่างใด และมีการกล่าวอ้างว่าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ก็มิได้เป็นความจริงตามเหตุการณ์ที่ได้ปรากฏขึ้นมา

 

เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีลักษณะคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งด้วยการใช้กำลังเข้าจับกุมและสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล การตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นเพื่อควบคุมและตีตราประชาชน การใช้อำนาจพิเศษในสภาวะยกเว้นด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉินโดยอ้างสถานการณ์ COVID-19 และการดำเนินคดีความโดยไม่เป็นธรรมด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110, 112, 116, 215, 368 และมาตรา 385 ตลอดจนกฎหมายต่าง ๆ ที่ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ การใช้เครื่องขยายเสียง การรักษาความสะอาด และการจราจรทางบก