“ปรองดอง”แท้ง มวลชน“ม็อบ”ลด

06 พ.ย. 2563 | 07:06 น.

“ปรองดอง”แท้ง มวลชน“ม็อบ”ลด : คอลัมน์คันฉ่องส่องการเมือง ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3625 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 8-11 พ.ย.2563 โดย... นาย NO VOTE

+++ “แกนนำกลุ่มราษฎร” ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ยืนยันถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ  คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากนายกฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ ปฏิรูปสถาบันให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 

 

+++ การจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาทางการเมือง ปราศจากความชอบธรรม..การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงละครทางการเมืองเพื่อซื้อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น จึงจะไม่ยอมรับและ “ไม่ร่วม สังฆกรรม”  กับคณะกรรมการดังกล่าว

+++ เป็นการแถลง “ตัดเยื่อใย” ต่อกรณีที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กำลังเดินสายทาบทามและขอความเห็น อดีตนายกฯ อดีตประธานสภา เพื่อให้เข้าร่วมกระบวนการให้เกิด “ความปรองดองสมานฉันท์” เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ

 

+++ ทั้งๆ ที่อดีตนายกฯ 3 คน คือ อานันท์ ปันยารชุณ,  พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการหาทางออกให้กับประเทศชาติ ส่วน “คณะราษฎร” ปิดประตูการหาทางออก ปิดประตูการเข้าสู่โต๊ะเจรจา ขณะที่ “พรรคฝ่ายค้าน” ก็ยังไม่แสดงท่าที่ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ได้แต่ตั้งแง่ขอรอดูไปก่อน “แท้ง” ตั้งแต่ยังไม่เกิดเสียแล้วคณะกรรมการสมานฉันท์

 

+++ อีกด้านหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และหน่วยงานด้านการข่าวของรัฐบาล ได้วิเคราะห์ทิศทางการชุมนุมในระยะที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่มวลชนเริ่มเข้าร่วมน้อยลง มีเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น

+++ 1.คนรุ่นใหม่หายเห่อ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน-นักศึกษากลุ่มที่ตามแห่ไปกับเพื่อน หรือต้องการไปถ่ายรูปเซลฟี่ กิจกรรมเริ่มซ้ำเดิม 2.เฉพาะกลุ่มนักเรียน ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงใกล้สอบกลางภาค และใกล้ปิดเทอม

 

+++ 3. แกนนำหลักถูกจับกุม และไม่ได้ประกันตัวเกือบทั้งหมด ทำให้การขับเคลื่อนการชุมนุมไม่เป็นเอกภาพ 4.การจัดชุมนุมแบบไม่มีแกนนำตัวจริง หลายเวทีไม่ดึงดูดมากพอ ปราศรัยเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ

 

+++ 5.มีแกนนำเสื้อแดงเข้าเทคโอเวอร์การชุมนุมในบางพื้นที่ และมีพวกต้องการหาเสียงในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น 6.การขยับถอยของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ยอมเปิดสภาให้ ส.ส และ ส.ว.เสนอทางออกประเทศ

 

+++ 7.นายกฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่ลาออก และพยายามลดเงื่อนไขด้านอื่น โดยเฉพาะการทยอยปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุม ทำให้ข้อเรียกร้องสำเร็จยากขึ้น 8.คนใส่เสื้อเหลืองรวมตัวกันเยอะขึ้น และใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้ไปคานน้ำหนักการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ขับเคลื่อนกระทบสถาบัน

           

+++ เมื่อ “มวลชน” ที่เข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฏร ดูจะร่อยหรอลงทุกครั้ง ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องปลุกให้ “มวลชน” ร่วมออกมาแสดงพลังให้มากๆ ด้วยการนัดชุมนุมใหญ่เป็นระยะๆ ว่าแต่ว่า จะไปยืดยาวได้มากแค่ไหนเท่านั้นแหละ...