อาคมขันน็อต 8 หน่วยงานสังกัด

09 พ.ย. 2563 | 03:55 น.

“อาคม”ลุยมอบนโยบาย 8 หน่วยงานในสังกัด กระตุ้นเร่งหายรายได้ ให้ตามเป้าหวังเป็นแขน-ขา พยุงเศรษฐกิจโตตามคาด และเป็นแรงส่งในปีหน้า

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะดูดีขึ้น จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ปรับลดประมาณการทั้งปีเหลือติดลบ 7.7% จากเดิมที่คาดว่า จะติดลบถึง 8.5% แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง เหตุเพราะเศรษฐกิจปีหน้า ที่คาดว่า จะฟื้นตัวได้ที่ 4.5% แต่เป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ติดลบ และต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปยืนเท่ากับระดับเดิมที่เกิดการระบาดของโคงวิด-19 ได้ 

 

หลังเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังคนใหม่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นายอาคมได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังไปเพียง 1 ครั้งและการประชุม อื่นๆบ้างประปราย จึงไม่ได้เห็นผลงานออกมาอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ผ่านการทำงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศบศ.” หรือผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) มากกว่า

 

แต่ในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 9-13 พ.ย.2563 นายอาคมจะเดินสายตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังที่สำคัญๆ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กรมธนารักษ์และกรมบัญชีกลาง เพื่อรับฟังแนวทางการดำเนินงาน และมอบนโยบายให้แต่ละหน่วยงานรับไปปฎิบัติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานเป็นส่วนหนึ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ 

อาคมขันน็อต 8 หน่วยงานสังกัด

เริ่มที่กรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดหารายได้ให้กับรัฐบาล โดยเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2564 วางไว้ที่ 2.085 ล้านล้านบาท แม้นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรจะยังคงยืนยันการจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย โดยจะได้เม็ดเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศแก่ผู้รับบริการในประเทศ (e-service) หลังจากผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและบรรจุเป็นกฎหมาย ที่คาดว่า จะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า ประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี ซึ่งจะช่วย

 

ขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น ก็จะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต แต่อาจไม่เพียงพอ นายอาคม จึงอาจไปให้นโยบายในการเพิ่มรายได้ภาษี แต่ขณะเดียวกันจะต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการดึงคนให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย 

 

เช่นเดียวกับกรมสรรพสามิตที่นายอาคม จะไปรับฟังถึงแผนการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564ว่า เป็นอย่างไร หลังจากที่ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา จัดเก็บได้ตํ่ากว่าเป้าหมายถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางด้วยนํ้ามันของประชาชนลดลง รวมไปถึงการบริโภคสุรา ยาสูบลดลงไปในช่วง 2-3 เดือนที่สถานการณ์รุนแรง ซึ่งหลังจากนี้จะฟื้นคืนรายได้กลับมาได้จากภาษีตัวใดบ้าง 

 

ขณะที่กรมศุลกากร กรมภาษีที่มีรายได้เข้ารัฐเป็นอันดับสุดท้าย แต่ก็ยังถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ซึ่งจะมีผลต่อการทำการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ฉะนั้นควรต้องปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาด้วย 

 

ส่วน 3 สำนัก ทั้งสศค. สบน.และสคร. ก็เป็นหน่วยงานหัวกระทิของกระทรวงการคลัง ในการคิดและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสศค. ที่ยังคงมีการบ้านหลัก คือการคิดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยประเทศได้ประโยชน์ร่วมด้วย 

 

ขณะที่สบน.จะต้องชี้แจงและระบุถึงกรอบการกู้ที่ยังสามารถกู้ได้ โดยไม่กระทบต่อวินัยการเงินการคลัง พร้อมทั้งแจกแจงสิ่งที่ทำมาในอดีตว่าเป็นอย่างไร รวมไปถึงแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เป็นไปตามกรอบการกู้เงินด้วย เช่นเดียวกับ สคร. ที่จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องมีการเบิกจ่ายไม่ตํ่ากว่า 95% ให้ได้ 

ด้านกรมธนารักษ์เอง ก็นับเป็นหน่วยงานที่มีรายได้เพิ่มในยามวิกฤติ ดังนั้นคงมีการรายงานถึงแผนเพิ่มรายได้ของกรมในปีงบ ประมาณ 2564 รวมไปถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนในพื้นที่ราชพัสดุต่างๆ ที่จะดูแลสังคม และเพิ่มรายได้ตามมาในอนาคต สุดท้ายคือกรมบัญชีกลาง ที่มีบทบาทสำคัญมากในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐ ลงสู่ระบบให้มากที่สุด

 

การตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในครั้งนี้ของนายอาคม อาจเป็นเหมือนการไปสั่งงานตรงแต่ละหน่วยงานธรรมดา แต่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ขณะนี้ สั่งการอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จึงเชื่อว่า หลังมอบนโยบายแล้ว กระทรวงการจะมีแผนการออกมาตรการ สำคัญๆ อะไรออกมาอีก โดยเฉพาะการกระตุ้นกำลังซื้อช่วงท้ายปี และการจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่ม 

 

“ทุกหน่วยงานที่เดินทางไป เปรียบเสมือนเป็นแขนและขาให้กับกระทรวงการคลังในการดำเนินนโยบายการคลังให้สัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งใจไว้และนำพาเศรษฐกิจในช่วงท้ายปีให้เติบโตได้ดีขึ้น เพื่อเป็นแรงส่งไปยังเศรษฐกิจในปีหน้าให้ขยายตัวกลับมาเป็นบวกได้ตามที่เคยประกาศไว้ให้ได้” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมว.คลัง เตรียมใช้มาตรการภาษี ดึงทุนต่างชาติ

รมว.คลัง ดัน ทำประกันสุขภาพเป็นวาระแห่งชาติ

"อาคม" ยันแบงก์รัฐพร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ 6.57 ล้านรายหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้

สคร.ถก “อาคม”ปรับแผนลงทุนรัฐวิสาหกิจปี2564

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,625 วันที่ 8 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563