ผ่าแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64

06 พ.ย. 2563 | 05:40 น.

กรมชลประทาน คิกออฟ แผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64” มี  12 เขื่อน ไฟเขียวน้ำปลูกข้าวนาปรัง ส่วนที่เหลืออัดเม็ดเงินกว่า 5 พันล้าน  จ้างงานเกษตรรกทั่วประเทศ แนะปลูกพืชน้ำน้อยแทน หากฝืนปลูกจะเสียหายตอนข้าวออกรวง

สัญญา แสงพุ่มพงษ์

 

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  รักษาราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 (ระหว่าง 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย. 64) ทั่วทั้งประเทศ วางแผนการจัดสรรน้ำไว้ 15,701 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นน้ำอุปโภคบริโภค 2,578 ล้าน ลบ.ม. (16%) รักษาระบบนิเวศ 7,615 ล้าน ลบ.ม.(49%) เกษตรกรรม 5,120  ล้าน ลบ.ม.(33%) อุตสาหกรรม 388 ล้าน ลบ.ม. (2%) และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2564 (พ.ค. - ก.ค.)อีกประมาณ 10,156 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ไว้ประมาณ 5,771 ล้าน ลบ.ม. เน้นสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต สำหรับข้าวนาปี 2563 ที่มีบางส่วนปลูกล่าช้านั้น กรมชลประทาน จะช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้ด้วยการใช้น้ำท่าในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ให้ข้าวที่กำลังออกรวงได้รับความเสียหาย มีทั้งหมด

 

สำหรับพื้นที่สนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งปี 2563/64  มีทั้งหมด 12  เขื่อน  เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล, เขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ,เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดขอนแก่น,เขื่อนสิริธร จังหวัดอุบลราชธานี,เขื่อนลำตะคอง,เขื่อนลำพระเพลิง,เขื่อนมูลบน จังหวัดนครราชสีมา,เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี,เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี,เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก,เขื่อนคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขื่อนบางลาง จังหวัดปัตตานี

 

ผ่าแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64

 

นายสัญญา กล่าวว่า อยากให้เกษตรกรติดตามในเรื่องของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ข้าวยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) เพราะช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูมีฝนตก การดูแลผลผลิตทางการเกษตรต้องให้ความใส่ใจ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และในขณะเดียวทางทางกรมชลประทานจะจัดเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ลงไปให้คำแนะนำประชุมกลุ่มย่อยในการเตรียมการปลูกพืชฤดูแล้งจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

 

สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(5 พ.ย. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 47,907 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 23,977 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวมกัน 12,525 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,829 ล้าน ลบ.ม.

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

 

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ในแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 (ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2563 - 30 เม.ย. 2564) และมาตรการรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ประกอบด้วย  เร่งเก็บกักน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝนปี 2563 สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค กปภ.สาขาต่าง ๆ และวางแผนรองรับในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง โครงการชลประทานขนาดใหญ่ และแหล่งน้ำธรรมขาติขนาดใหญ่ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน พร้อมติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

 

นอกจากนี้ ยังได้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อให้มีปริมาณน้ำอุปโภค บริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้งปี 2563/64 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2564 การเฝ้าระวังคุณภาพในลำน้ำสายหลัก และสายรอง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง เป็นต้น การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R การติดตาม ประเมินผล เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 เป็นไปตามแผน รวมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

 

ผ่าแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64

 

ทั้งนี้ ยังได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา สำหรับมาตรการการจ้างแรงงานชลประทาน นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 5,662 ล้านบาท ได้กำหนดเป้าหมายการจ้างแรงงานไว้ประมาณ 94,248 คน  โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเกษตรกรในพื้นที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ และหากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกร หรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ