เงินเฟ้อต.ค.ฟื้นตัว ติดลบน้อยลง 0.50%

05 พ.ย. 2563 | 07:24 น.

เงินเฟ้อต.ค.63 ติดลบ 0.50% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 มีทิศทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นชัดเจน หลังราคาสินค้าอาหารสด ผักสด เพิ่มสูงขึ้น  คาดทั้งปีเงินเฟ้อติดลบเหลือ 0.85%  

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2563 เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2563 และลดลง 0.50% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันของปีนี้ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และถือว่าติดลบน้อยลง ซึ่งแสดงว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจน แต่ยังไม่ฟื้นเร็วนัก

เงินเฟ้อต.ค.ฟื้นตัว  ติดลบน้อยลง 0.50%

 ส่วนเงินเฟ้อ 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) ลดลง 0.94% และเงินเฟ้อพื้นฐานน  ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก ลดลง 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 และเพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 เฉลี่ย 10 เดือน เพิ่มขึ้น 0.31%สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อฟื้นตัวดีขึ้น มาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.57% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 3.53% ผักสด เพิ่ม 13.54% จากผลกระทบของฝนตก น้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย ผลไม้สด เพิ่ม 0.33% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.54% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.94% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.44% นอกบ้าน เพิ่ม 0.68% แต่ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 1.76% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 1.20%

ทั้งนี้ แม้สินค้ากลุ่มอาหารจะสูงขึ้น แต่เงินเฟ้อก็ถูกฉุดโดยกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลงถึง 1.70% มีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวฉุดหลัก คือ น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 13.82% ค่าโดยสารสาธารณะ ลด 0.01% การสื่อสาร ลด 0.03% เคหสถาน ลด 0.21% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลด 0.08% บันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.24% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.21% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.07%

  “เงินเฟ้อที่เริ่มติดลบน้อยลง มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด แต่ก็ถูกฉุดโดยราคาน้ำมันที่แม้ราคาจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังลดลง เมื่อเทียบกับฐานของปีก่อน ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ราคาทรงตัวและลดลง จึงไม่ได้มีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ”

สำหรับมาตรการของรัฐบาล ที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มวันหยุดยาว โครงการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน ไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า ไม่มีผลทำให้สินค้าแพงขึ้น และกระทบต่อเงินเฟ้อ แต่เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่เหลือของปี 2563 นี้ ขณะที่ผู้ประกอบการ จะมีการแข่งขันกันลดราคา เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคไปซื้อสินค้า โดยเฉพาะช้อปดีมีคืน

 

ทั้งนี้ สนค. กำลังจะติดตามผลว่าจะช่วยหมุนการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจได้กี่รอบ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค จะไม่เพิ่มขึ้น เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการลดราคาสินค้าล็อต 7 อีก 13,700 รายการ

สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี คาดว่า ในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือน จะยังติดลบอยู่ แต่ลบน้อยลง ทำให้ไตรมาส 4 ติดลบที่ 0.4% และทั้งปี จะติดลบอยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1% แต่น่าจะติดลบแค่ 0.85% โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ราคาพลังงาน ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจจะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้ติดลบเพิ่มขึ้นได้