แนะรัฐเร่งฟื้นรายได้ลดหนี้ครัวเรือน

06 พ.ย. 2563 | 10:20 น.

EIC ชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้น คาดไตรมาส 3 แตะ 88% ห่วงคนหันพึ่งพาหนี้นอกระบบพุ่ง ด้าน TMB เชื่อไตรมาส 3 ทรงตัว เหตุคนกลับมาชำระหนี้ แถมจีดีพีดีกว่าไตรมาส 2

หนี้ครัวเรือน ยังคงเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 88-90%ต่อจีดีพีในปี 2563 จากเศรษฐกิจไทยที่ยังมีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ที่คาดว่า จะยังเติบโตในกลุ่มครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ 

 

หากย้อนไปตัวเลขสิ้นปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนจาก 21,870,960 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยที่ 26,371 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน หากเทียบรายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ 6,502.60 ดอลลาร์เท่ากับสัดส่วนรายได้ต่อปีของคนไทยคิดเป็นเพียง 8.19% ของรายได้ต่อปีต่อคนของคนสวิสเซอร์แลนด์

 

ขณะที่ข้อมูล Trading Economics ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของสวิสเซอร์แลนด์เพิ่มจาก 132% ต่อจีดีพีเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 มาอยู่ที่ 133.60%ต่อจีดีพีเมื่อไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา โดยที่ธนาคารโลกระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงเกิน 77% นั้น จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง

 

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคาร ไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่กระโดดจาก 80.2% ในไตรมาส 1 มาอยู่ที่ 83.8% ในไตรมาส 2 ปี63 ถือว่า เป็นระดับสูงที่สุดของไทยเท่าที่มีมา หลังจากที่เคยเร่งตัวต่อเนื่องในช่วงปี 2552 จนถึง 2558 ไปแตะระดับ 81.2% ในไตรมาส 4 ปี2558 ก่อนจะปรับลดลงเล็กน้อยและค่อนข้างทรงตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา 

แนะรัฐเร่งฟื้นรายได้ลดหนี้ครัวเรือน

นอกจากนั้น ก่อนที่จะเกิดโควิด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยก็ถือว่า อยู่ในระดับสูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอยู่แล้ว และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3ไตรมาสข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่ EIC คาดว่า จีดีพีไทยจะหดตัวจากผลกระทบของโควิด โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนน่าจะขึ้นไปแตะที่ 88% ในช่วงปลายปีนี้ ก่อนไปสูงสุดในไตรมาส1 ปี 2564 ที่ 89-90% ของจีดีพี จากนั้นน่าจะทยอยลดตํ่าลงอย่างช้าๆ ตามจีดีพีที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในไตรมาส 2 จากฐานที่ตํ่าของปีนี้

 

ความน่ากังวลของหนี้ครัวเรือนในเวลานี้ เป็นความเปราะบางของภาระหนี้ที่สะสมไว้มากในช่วงก่อนหน้า โดยข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า มูลค่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่กว่า 70%เป็นหนี้เพื่อการบริโภคเป็นสำคัญในรูปสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการบริโภคผ่านการก่อหนี้ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา

 

ขณะที่หนี้ของกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 30 ปี ซึ่งมีหนี้เสียในสัดส่วนที่สูง จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราว่างงานสูงขึ้นมากที่สุดจากวิกฤติโควิด  และยังต้องจับตาปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของครัวเรือนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่จำเป็นต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ ที่น่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังไม่ถูกนับอยู่ในฐานข้อมูลของหนี้ครัวเรือนของทางการ

 

ดังนั้น การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเมื่อเทียบกับรายได้ที่ลดลง จะส่งผล 3 ด้านคือ 1.การบริโภคจะชะลอตัวอย่างมากและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและปานกลาง 2.ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้นและจะทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อมากยิ่งขึ้น และ 3.ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางสังคมจากครัวเรือนที่มีความเปราะบางทางการเงินจะรุนแรงขึ้น 

แนะรัฐเร่งฟื้นรายได้ลดหนี้ครัวเรือน

ทางออกคือ แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้กระบวนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่สร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะสั้น ยังต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มการเข้าถึงสภาพคล่องของ SMEs ที่มีศักยภาพ และส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อฟื้นฟูรายได้ของครัวเรือน

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics)กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 อาจจะทรงตัวหรือลดลง จากการที่ลูกหนี้รายย่อยออกจากมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นส่วนมาก 

แนะรัฐเร่งฟื้นรายได้ลดหนี้ครัวเรือน

หากพิจารณาแนวโน้มการออมกับภาระหนี้ครัวเรือนพบว่า เงินฝากรวมเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนสิงหาคม โดยเงินฝากเพิ่มขึ้น 7.1 แสนล้านบาท เพราะคนออมมากขึ้น ใช้จ่ายน้อยลง ส่วนรายย่อยเพิ่มแค่ 2.8 แสนล้านบาท แต่หากรายย่อยไม่มีรายได้ ก็ต้องใช้จ่ายจากเงินออม ซึ่งจะทำให้เงินออมค่อยๆลดลง และภาระหนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ สินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังขยายตัวเพิ่ม มูลหนี้คงค้าง 1.07 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน

 

ดังนั้น ประเด็นสำคัญจะต้องแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจให้ได้ เรื่องรายได้ของครัวเรือน มาตรการช่วยเหลือหรือการจ้างงานช่วยรักษาการจ้างงานไว้ หรือตอนนี้แรงงานประสบปัญหาการลดชั่วโมงการทำงานจะทำอย่างไรที่จะตรึงจุดเหล่านี้ไม่ให้หล่นลงมา 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนี้ครัวเรือน ที่หลั่งมาราว สึนามิ

สึนามิหนี้ครัวเรือน : วิธีรับมือก่อนพายุจะมา

สภาพัฒน์จับตาหนี้ครัวเรือน พบออมน้อย เป็นหนี้สูงผ่อนนาน

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,624 วันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563