ปฏิวัติ “ดอกเบี้ยผิดนัด” แก้ “ตัดจ่ายหนี้ไม่เป็นธรรม”

04 พ.ย. 2563 | 03:30 น.

ปฏิวัติ “ดอกเบี้ยผิดนัด” แก้ “ตัดจ่ายหนี้ไม่เป็นธรรม” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3624 หน้า 8 ระหว่างวันที่ 5-7 พ.ย.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

ฉบับที่แล้วผมนำเสนอบทความเรื่อง การแก้ปัญการการคิดดอกเบี้ยค้างชำระที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นปฐมบทของการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นสำหรับการกู้ยืมเงินในระบบของประเทศ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดำเนินการสะสางปฏิวัติระบบการชาร์จดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เรามาดูปัญหาและสิ่งที่กำลังตามแก้ไขให้กับประชาชนกันครับ (อ่านเพิ่มเติม...ไชโย! ล้างดอกเบี้ยผิดนัด การตัดจ่ายหนี้ให้เป็นธรรม)
 

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาค่างวดที่จ่ายชำระเข้ามา สถาบันการเงินจะนำไปตัดชำระหนี้ใน 3 ชั้นตอน
 

(1) ตัดข่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก่อน
 

ตามด้วย (2) ตัดจ่ายดอกเบี้ยปกติ
 

เงินที่เหลือถึงจะนำไปตัดชำระในส่วนของ (3) เงินต้น
 

ดังนั้น เมื่อลูกหนี้จ่ายชำระค่างวดเข้ามา จะไม่สามารถตัดชำระเงินต้นได้ครบ ทำให้ในงวดนั้นเกิดการผิดนัดชำระหนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า การเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบเดิมที่เรียกเก็บด้วยมูลค่าที่สูง ทำให้ลูกหนี้มีภาระยอดเงินสุทธิที่ต้องจ่ายในงวดนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และทำให้มีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่การจ่ายชำระล่าช้าเพียงงวดเดียว กลับเป็นสาเหตุให้ต้องผิดนัดชำระหนี้ในหลาย ๆ งวดต่อมา
 

ปฏิวัติ “ดอกเบี้ยผิดนัด” แก้ “ตัดจ่ายหนี้ไม่เป็นธรรม”

 

คราวนี้เรามาดูกันว่า การเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร?
 

จากการศึกษาแนวทางปฏิบัติในการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฮ่องกง พบว่า ส่วนใหญ่คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จาก “ฐานของค่างวดที่ค้างชำระ” แทบทั้งสิ้น ไม่ได้คำนวณจากฐานของเงินต้นที่ค้างชำระเหมือนประเทศไทย
 

ประเทศสิงคโปร์กำหนดว่า การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้คิดจากฐานของค่างวดที่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ห้ามคิดจากค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
 

ประเทศนิวซีแลนด์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ นอกจากจะห้ามคิดจากส่วนที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระแล้ว ยังห้ามคิดจากส่วนที่เรียกคืนก่อนครบกำหนดชำระ (acceleration) ด้วย
 

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางประเทศมีการกำหนดเพิ่มเติมว่า “อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้” จะสามารถเก็บเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยปกติตามสัญญาเท่าไหร่ เช่น ในประเทศมาเลเซีย กำหนดให้สามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 1% ต่อปีของค่างวดที่ค้างชำระ นอกเหนือจากดอกเบี้ยปกติ
 

ในประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้สามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อ high-cost mortgage ได้ไม่เกิน 4% เพิ่มเติมจากดอกเบี้ยปกติ
 

ประเทศเยอรมนี ได้มีข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ที่ให้เรียกเก็บเพิ่มจากดอกเบี้ยปกติได้แค่ 2.5% หากมีการผิดนัดชำระหนี้
 

การที่หลายประเทศกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ที่สามารถเรียกเก็บเพิ่มเติมได้จากอัตราดอกเบี้ยปกติตามสัญญา เป็นเพราะในด้านหนึ่งแม้เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้ให้ตรงเวลา แต่ในอีกด้านก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วยเช่นกันว่า หากลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระหนี้ มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา ดอกเบี้ยปรับที่ต้องจ่าย จะต้องไม่เป็นภาระต่อลูกหนี้จนเกินพอดี
 

ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีกับลูกหนี้เองแล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาหนี้เสีย ที่มีสาเหตุจากภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปรับ ที่สูงขึ้นเกินกำลังของลูกหนี้นั่นเอง
 

ด้วยสาเหตุนี่แหละทำให้ ธปท. ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ฉบับสะท้านปฐพีขึ้นมา เพื่อลดโอกาสเกิดหนี้เสียในระบบการเงินโดยรวม และช่วยลดภาระหนี้สินให้กับประชาชน

ประกาศปฏิวัติการคิดดอกเบี้ยค้างชำระฉบับนี้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยหลายเรื่อง
 

เรื่องแรก การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง เดิมแม้ผิดนัดเพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สูงมาก
 

แต่ตามประกาศฉบับใหม่ให้คิดบนฐาน “เงินต้นที่ผิดนัดชำระจริง” เท่านั้น ไม่รวมเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งจะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น
 

สาเหตุสำคัญที่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ไม่ควรรวมค่างวดในอนาคตที่มาไม่ถึงด้วยนั้น เพราะการผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดชำระ แล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดนั้น ตามมาตรา 204 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า “ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย”
 

แต่ถ้าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ ตามมาตรา 191 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดว่า “นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด”
 

ดังนั้น หากยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ตามงวดที่กำหนด หรือเจ้าหนี้ยังไม่ได้ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาเพื่อเรียกหนี้คืน ทั้งจำนวนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา ลูกหนี้ก็ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ในหนี้จำนวนดังกล่าว เจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้นั้นได้
 

ทั้งนี้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดจากฐานค่างวดที่ผิดนัดชำระหนี้ เฉพาะส่วนของเงินต้นเท่านั้น ไม่รวมส่วนของดอกเบี้ยปกติตามสัญญา ตามมาตรา 655 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ”
 

ตัวอย่างเช่น การกู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อนชำระ 20 ปี (240 งวด) จ่ายชำระปกติมา 2 ปี (24 งวด) งวดที่ 25 ลูกหนี้จะต้องจ่าย 42,000 บาท (ในจำนวนนี้แยกเป็นการจ่ายเงินต้น 10,000 บาท และจ่ายดอกเบี้ย 32,000 บาท) เกิดติดขัดผ่อนไม่ไหว แต่เดิมนั้นดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดจากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด คือ งวดที่ 25 – งวดที่ 240 ซึ่งเหลือยู่ประมาณ 4.77 ล้านบาท
 

แต่ตามประกาศฉบับใหม่ของธปท.นั้น ภาระของลูกหนี้จะถูกคิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงในงวดที่ 25 คือ 10,000 บาท เท่านั้น ไม่รวมเงินต้นในงวดที่ 26 - งวดที่ 240 ซึ่งเป็นงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง...ดีขึ้นกว่าเดิมมั้ยครับ ลดภาระแบกหนี้กันหรือไม่ครับ...
 

ถ้าดีขึ้นกว่าเดิมก็ปรบมือให้กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ คณะผู้บริหารแห่งวังบางขุนพรหม ที่หาญกล้าออกมาตัดสินใจ สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน โดยเฉพาะบรรดาลูกหนี้เราๆ ท่านๆ สิครับพี่น้อง!