พายุโมลาเบทำ 6 จังหวัดน้ำท่วมขัง

02 พ.ย. 2563 | 10:45 น.

อิทธิพล"พายุโมลาเบ"ยังพ่นพิษ ทำ 6 จังหวัดในอีสาน -ใต้ -กลาง น้ำท่วมขัง ด้าน"กรมชลประทาน" ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำอย่างเต็มที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพล "พายุโมลาเบ" ทำให้เกิดผลกระทบหลายจังหวัด โดยเฉพาะ6 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี โดยกรมชลประทานได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 

พายุโมลาเบทำ 6 จังหวัดน้ำท่วมขัง

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ฝนที่ตกหนัก ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี บริเวณชุมชนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) น้ำท่วมสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร และชุมชนบูรพา 2 น้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร 


โดยโครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้นำกระสอบทราย 500 ใบ วางเป็นแนวกั้นน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร 50 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำในแม่น้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด
 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กด่วน กรมอุตุฯ เตือนฉบับ 2 พายุโซนร้อน “โคนี” ขึ้นฝั่งเวียดนาม 5 พ.ย.

เปิดเส้นทางเดิน"พายุโคนี"

กรมอุตุฯ เตือนฉบับ 1 พายุโซนร้อน“โคนี” มีผลกระทบ 5-7 พ.ย.63

เกาะติด พายุโซนร้อน“โคนี” จ่อขึ้นฝั่งเวียดนาม 4-5 พ.ย.

เปิดคลิป พายุ “ซูปเปอร์ไต้ฝุ่นโคนี” ซัดฟิลิปปินส์ ความเร็วลมกว่า200กม./ชม.

เช็กด่วน พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักวันนี้(2 พ.ย.)

ที่จังหวัดนครราชสีมา สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 172 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 111% ของความจุอ่างฯ แนวโน้มปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ด้านท้ายอ่างฯ เริ่มลดลง ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 44 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง (สำรองไว้ 13 เครื่อง) พร้อมสนับสนุนรถแบคโฮ 4 คัน เข้ากำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ

 

พายุโมลาเบทำ 6 จังหวัดน้ำท่วมขัง

 

ส่วนที่เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 351 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 111% ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำรวม 2.16 ล้าน ลบ.ม./วัน และยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ ชุมชนบ้านลำเชิงไกร ต.โคกสูง และชุมชนหมื่นไวย ต.หมื่นไวย ทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำบริบูรณ์ บริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) จอหอ และ ปตร.ข่อยงาม รวม 9 เครื่อง พร้อมนำรถแบคโฮ 5 คัน เข้าไปขุดลอกคลองสายใหญ่ฝั่งขวา-ปตร.โพธิ์เตี้ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ให้เร็วขึ้น 


ด้านแม่น้ำมูล มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย เนื่องจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงลงแม่น้ำมูล ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 6 ตัว เพื่อเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนพิมาย พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำมูลและลำจักราช


ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีน้ำท่วมขัง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.สามชุก อ.สองพี่น้อง อ.บางปลาม้า และ อ.อู่ทอง โครงการชลประทานจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 10 เครื่อง บริเวณ ปตร.บางแม่หม้าย ปตร.บ้านกุ่ม ปตร.บางสะแก ปตร.บางหัวบ้าน และ ปตร.สองพี่น้อง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 32 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 20 เครื่อง บริเวณ ปตร.เภาทะลาย และ ปตร.สองพี่น้อง 

พายุโมลาเบทำ 6 จังหวัดน้ำท่วมขัง

 

พร้อมกับนำรถแบคโฮกำจัดวัชพืชในคลองระบายน้ำ 4 คัน ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ได้เร่งระบายน้ำบริเวณ ปตร.ริมแม่น้ำท่าจีน ระบายน้ำจากคลองระบาย 5 ขวา สามชุก 1 ลงคลองระบายใหญ่สามชุก 1 และเร่งระบายน้ำในคลองระบาย 4 ซ้ายสุพรรณ 2 เพื่อรองรับน้ำที่สูบออก
 

ที่จังหวัดนครปฐม ในเขตพื้นที่ ต.ทุ่งบัว และ ต.รางพิกุล อ.กำแพงแสน มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ ส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 13 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 7 เครื่อง เร่งระบายน้ำท่วมขัง


ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำในแม่น้ำตาปีตอนล่างเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำตาปี รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เคียนซา อ.บ้านนาสาร อ.บ้านนาเดิม และอ.พุนพิน เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนและมีน้ำจากตอนบนไหลลงมาเติมอยู่ตลอดเวลา 


ปัจจุบันระดับน้ำลดลง โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งเตือนให้กับหน่วยงานในพื้นที่และจังหวัดทราบ


ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์น้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ จะคลี่คลายดีขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ ซึ่งกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดตามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460