เช็กด่วน ! พื้นที่เสี่ยง อำเภอนาดี -กบินทร์บุรี เตรียมรับมวลน้ำคืนนี้

01 พ.ย. 2563 | 14:07 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอำเภอนาดี - กบินทร์บุรี ให้ระวังน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในวันที่ 2 พ.ย.เวลา 02.00 น. พร้อมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือทันท่วงที

วันที่ 1  พฤศจิกายน 2563 นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 15 เวลา  18.00  น. เรื่องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมขัง โดยระบุว่าเนื่องจากในวันนี้ มีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้มีน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน ไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ชุมชน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี


กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำ คาคว่ามวลน้ำจะไหลหลากผ่านคลองยางแควหนุมาน อำเภอกบินทร์บุรี และแม่น้ำปราจีนบุรี ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ บริเวณอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยระดับน้ำมีแนวโน้มสูงกว่าตลิ่ง 0.5 - 0.7  เมตร


ซึ่งมวลน้ำจะไหลหลากเข้าท่วมอำเภอกบินทร์บุรี ในวันที่ 2  พฤศจิกายน2563 เวลา 02.00 น.โดยคาดการณ์ว่าน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งบริเวณชุมชนตลาดเก่ากบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ระยะเวลาประมาณ 3- 5 วัน หากไม่มีฝนตกเพิ่มขึ้นในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ
 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำท่วมอุโมงค์ทับลาน แห้งแล้วเจ้าหน้าที่กำลังทำความสะอาดเปิดเส้นทาง

หวั่น "พายุโคนี" กระทบ "ปภ."ย้ำให้เฝ้าระวังปริมาณน้ำในเขื่อน - อ่างเก็บน้ำ 

เช็กที่นี่ 1-2 พ.ย. จังหวัดไหนเตรียมรับมือฝนฟ้าคะนอง

ทีมกรุ๊ป เตือน ภาคใต้รับมือ พายุเข้า ฝนตกหนักกว่าทุกปี จาก ลานิญญา

แขวงปราจีนเตือน ! 2จุด รถผ่านไม่ได้

ระดมแก้น้ำป่าทะลักถนน 304 –อุโมงค์ทับลาน

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ดังนี้


1. ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขังอยู่หรือเคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะบริเวณตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี  ตำบลหนองกี่ ตำบลนาแขม ตำบลเมืองเก่า และตำบลกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี


2. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก


3. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารน้ำ โดยเร่งระบายน้ำในลำน้ำ ,แม่น้ำ


4. จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยเครื่องจักรเครื่องมือรวมถึงจัดเตรียมระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน