อุตฯน้ำตาลวูบหนักรอบ 10 ปี 7 ปัจจัยเสี่ยงรุมซัดกระหน่ำ

31 ต.ค. 2563 | 02:50 น.

อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยตั้งอยู่บนความเสี่ยงอย่างน้อย 7 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออนาคตของโรงงานน้ำตาล และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย

หลายปีก่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอยู่ในกลุ่มสินค้าและพืชเกษตรที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอ้อยที่มีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่ชัดเจน  และเป็นพืชเกษตรที่มีราคาดีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรนับแสนครัวเรือนที่กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แห่ปลูกอ้อยกันจำนวนมาก ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็มีแรงหนุนที่ดี จากการบริโภคของโลกที่สูงขึ้น โดยไทยยืนอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเพราะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลก 

 

แต่สถานการณ์วันนี้อาจกำลังไปสู่โหมดตรงข้าม เนื่องจากวิกฤติภัยแล้งของโลก และข้อกังวลใหญ่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปลี่ยนไป ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ถึงความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองให้ดีนับจากนี้ไป

 

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

นายอภิชาติ มองว่า ปี2564 ทั้งโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยยังต้องรับศึกหนักจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่ยังรุมเร้าต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศที่อาจไม่เอื้อต่อการปลูกอ้อย  ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริโภคน้ำตาลของโลกชะลอตัวลง  อีกทั้งการสูญเสียตลาดส่งออกน้ำตาลของไทยครั้งรุนแรงที่สุด ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังผันผวน (ดูกราฟิกปัจจัยเสี่ยงประกอบ)

 

และถ้าโฟกัสให้ดีตัวแปรสำคัญต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะพบว่า 1. กำลังซื้อทั้งหมดในโลกลดลง (ภาวะปกติที่ควรจะเป็นจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี) 2. การผลิตน้ำตาลจากประเทศบราซิลเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้นประมาณ 9-10 ล้านตันน้ำตาลในปีการผลิตปัจจุบัน จากราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในบราซิลทำการผลิตน้ำตาลมากขึ้น เพราะขายได้ราคามากกว่าน้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล

 

ถ้ามองอีกด้าน ก็จะพบว่าเกษตรกรมีการปรับตัวในการผลิตมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ที่ได้ราคาดีกว่า หรือมีการปรับปรุงต้นทุนการผลิตอ้อยให้ดีขึ้น  ในขณะที่โรงงานน้ำตาลจะมีการทำงานที่ใกล้ชิดกับเกษตรกรมากขึ้นในการวางแผนการปลูกและการผลิต

 

อุตฯน้ำตาลวูบหนักรอบ 10 ปี 7 ปัจจัยเสี่ยงรุมซัดกระหน่ำ

 

ห่วงปริมาณอ้อยวูบ

ปี 2563/2564 ฤดูผลิตใหม่ที่เริ่มเดือนตั้งแต่ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป พยากรณ์กันว่าปริมาณอ้อยจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ที่มีปริมาณอ้อยมากกว่า 100 ล้านตันอ้อยต่อปี โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยประมาณ 65-70 ล้านตัน เป็นปริมาณที่น้อยเกินไปกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลต่อหน่วยสูงขึ้นจากกำลังการผลิตที่มีจำนวนมาก และอาจจะสูญเสียตลาดบางส่วนในการส่งออกในระยะยาวหากว่าการผลิตอ้อยยังน้อยต่อเนื่องไปอีกหลายปี

 

ส่งออกต่ำสุดรอบ 10 ปี

สำหรับราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับสูงขึ้นมาที่ระดับ 14 เซนต์ต่อปอนด์ หลังจากที่เกิดความกลัวและเทขายออกมาจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาจากที่วิกฤติไวรัสโควิด-19 แต่ราคาน้ำตาลน่าจะกลับเข้ามาสู่ภาวะที่สมดุลมากขึ้น แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าการผลิตที่มากกว่าการบริโภคในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ก็ตาม เนื่องจากยังมีความกลัวเรื่องปริมาณน้ำตาลที่จะส่งออกจากประเทศอินเดีย (มีการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลมากขึ้น แต่รัฐบาลของอินเดียจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการสนับสนุนราคาในการส่งออกน้ำตาลในปีการผลิตที่จะถึงนี้ และยังคงค้างชำระหนี้ในการสนับสนุนการส่งออกกับโรงงานน้ำตาลเป็นจำนวนมากในฤดูการผลิตล่าสุดที่ผ่านมา) รวมถึงความต้องการลดความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงทางอาหารที่สูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ และภาคเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความผันแปรมากขึ้น

 

ส่วนไทยคาดว่าจะเหลือการส่งออกน้ำตาลประมาณ 4.0 - 4.5 ล้านตัน ในฤดูการผลิตใหม่ และน่าจะลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี เทียบจากก่อนหน้านี้ไทยส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลกแต่ละปีตั้งแต่ 7-11 ล้านตัน

อุตฯน้ำตาลวูบหนักรอบ 10 ปี 7 ปัจจัยเสี่ยงรุมซัดกระหน่ำ

 

รง.น้ำตาลเสี่ยง

นายอภิชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า น่าจับตานับจากนี้ไป โรงงานน้ำตาลอาจเข้าสู่ภาวะความเสี่ยงสูงจากปริมาณอ้อยจะลดลงจากปีที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงที่ต่อเนื่องในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า หากภาวะราคาน้ำตาลยังไม่สูงขึ้นมาอย่างเด่นชัด ก็ยากที่จะทำให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกอ้อยมากขึ้นเหมือนเดิม

 

ขณะที่คาดว่าการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปีปัจจุบันน่าจะลดลงประมาณ 7-8% จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ประเมินโดยภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยังยืนอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง

 

อุตฯน้ำตาลวูบหนักรอบ 10 ปี 7 ปัจจัยเสี่ยงรุมซัดกระหน่ำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พายุซัดส่งออกน้ำตาล “เวียดนาม” แผลงฤทธิ์จ่อฟ้องไทย

น้ำตาลไทย “สาหัส” 3 ปัจจัยฉุด ใช้กำลังผลิตแค่ 34%

“โรงงานน้ำตาล” วางกรอบจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดคุณภาพปีการผลิต 63/64