สื่อจีนวิเคราะห์ม็อบเยาวชนไทยมีตะวันตกหนุนหลัง

31 ต.ค. 2563 | 00:47 น.

“โกลบอล ไทมส์” (Global Times) สื่อรายวันภาษาอังกฤษของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำเสนอบทความวิเคราะห์เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้ว่า มี “มือที่มองไม่เห็นจากโลกตะวันตก” อยู่เบื้องหลังคอยหยิบยื่นเงินทุนสนับสนุนการชุมนุม

 

เว็บไซต์สำนักข่าว โกลบอล ไทมส์ ประจำวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้นำเสนอบทความของนายหยู ชุน รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการทูตฝ่ายทหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกลาโหมแห่งชาติ (NUDT :  National University of Defense Technology) ของจีน ชื่อบทความ Behind-scenes Funding of Thailand Protests Show Invisible Western Hands ระบุว่า การเมืองไทย ที่กำลังทวีอุณหภูมิร้อนแรง มี การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล บนท้องถนน กระทั่งต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกทม.เมื่อวันที่ 15 ต.ค. (ซึ่งขณะนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว) เป็นสถานการณ์ที่ชาวโลกกำลังจับตามอง 

สื่อจีนวิเคราะห์ม็อบเยาวชนไทยมีตะวันตกหนุนหลัง

แม้ว่าทางผู้ชุมนุมจะมีเหตุผลมากมายในการออกมาเรียกร้องต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ถดถอยและอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้น หรือเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผู้ชุมนุมระบุว่าเป็นรธน.ฉบับที่รองรับการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร แต่การชุมนุมในประเทศไทยนั้นมีสิ่งที่เหมือนกับการชุมนุมประท้วงที่นำมาซึ่งความวุ่นวายในฮ่องกงเมื่อปีที่ผ่านมา

 

ความเหมือนประการแรก คือ เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยเยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงของไทยในยุคต่อต้านรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และผู้สืบทอดตำแหน่งในรัฐบาลต่อ ๆ มา

 

ความเหมือนประการที่สองคือ การชุมนุมของคนหนุ่มสาวทั้งในไทยและฮ่องกงนั้นมีการบริหารจัดการอย่างดี ซึ่งจุดนี้เชื่อว่ามีท่อน้ำเลี้ยงหรือมีกลุ่มทุนหนุนหลังทั้งในรูปกลุ่มบุคคลและองค์กร ผู้เขียนบทวิเคราะห์ในโกลบอลไทมส์ตั้งข้อสังเกตว่า ในการชุมนุมของเยาวชนไทยช่วงหลัง ๆนั้น มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันเพียบพร้อม เช่น หมวกนิรภัย แว่นพลาสติกกันลม และร่ม ซึ่งเด็กนักเรียนหรือนักศึกษาที่เข้ามาร่วมชุมนุมไม่น่าจะระดมทุนมาจัดซื้อแจกจ่ายได้ทั่วถึงเช่นนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 30 ต.ค. 63

ม็อบฮ่องกงแพแตก ทะลักลี้ภัยต่างแดน หนี กม.ความมั่นคง

ฮ่องกงยังวุ่น ม็อบเงิบหลังสหรัฐปฏิเสธคำขอลี้ภัย

“โจชัว หว่อง” แท็กทีมม็อบไทย

 

ความเหมือนประการที่สาม คือ รูปแบบการชุมนุมในกรุงเทพที่เหมือนกับการชุมนุมในฮ่องกง นั่นคือการยึดครองพื้นที่สาธารณะที่เป็นสถานที่สำคัญ ๆ ศูนย์การค้าใจกลางเมือง และสถานีรถไฟฟ้า เป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจจากประชาคมโลก มีการนำร่มมาเป็นสัญลักษณ์การชุมนุม และยังเล่นเกมไล่จับกับตำรวจ ด้วยการปรับเปลี่ยนสถานที่นัดหมายชุมนุม หรือนัดหมายโดยใช้เวลากระชั้นชิด

ความเหมือนประการที่สี่ที่สื่อจีนระบุก็คือ มีชาวต่างชาติที่เป็นชาวตะวันตกซึ่งไม่อาจระบุว่าเป็นใครมาจากไหน มาช่วยบรรดานักเรียนนักศึกษาจัดตั้งเวทีและแนวป้องกัน นอกจากนี้ยังมีทีมตากล้องมืออาชีพในกลุ่มผู้ชุมนุมคอยเก็บภาพที่เป็น “ช็อตสำคัญ” ที่จะกระทบความรู้สึกเมื่อได้เห็น เช่นภาพผู้ชุมนุมคุกเข่าลงต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือภาพตำรวจกำลังกวัดแกว่งอาวุธอยู่เบื้องหน้าผู้ชุมนุมที่มีแต่สองมือเปล่า ภาพถ่ายเหล่าถูกแชร์ต่อเป็นไวรัลในสื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผู้พบเห็นมีความรู้สึกเกลียดชังรัฐบาลมากขึ้น และตัดสินใจออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น นับเป็นแคมเปญระดมคนมาชุมนุมที่ใช้ได้ผลดี

 

นอกจากนี้ ยังประจักษ์ชัดว่า แกนนำการชุมนุมในฮ่องกงอย่างโจชัว หว่อง ได้แสดงออกอย่างเปิดเผยว่า เขาสนับสนุนการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย ซึ่งทำให้อดไม่ได้ที่จะย้อนนึกถึงภาพถ่ายที่เคยปรากฏทางสื่อที่เป็นภาพนายโจชัว หว่อง กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

 

“ทั้งรัฐบาลไทยและสื่อกระแสหลักเชื่อว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและประเทศในโลกตะวันตกใช้พลังของเยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นเครื่องมือมุ่งไปสู่เป้าหมายการล้มล้างระบบการเมืองการปกครองในปัจจุบันของไทย” เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความชิ้นนี้ระบุ และว่า เป้าหมายต่อจากนั้นคือการนำกลุ่มการเมืองที่ถือหางฝั่งตะวันตกเข้ามาเป็นรัฐบาลและบริหารประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตก เป็น color revolution หรือการปฏิวัติลบล้าง “สีเดิม” ให้หมดไปอย่างแท้จริง  

“โกลบอลไทมส์” ซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปิดท้ายบทความด้วยการระบุถึงกลยุทธ์ของสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองในหลายประเทศ ทั้งอดีตสหภาพโซเวียต ตะวันออกกลาง และอีกหลายประเทศและภูมิภาค ที่กำลังประสบความตึงเครียดทางการเมือง แต่การเข้าแทรกแซงดังกล่าวยิ่งสร้างความวุ่นวายอลหม่าน และทำให้ประเทศเหล่านั้นแตกแยกยุ่งเหยิง สุดท้ายกลายเป็นชนวนที่ทำให้โลกไร้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพ  

 

บทความอื่น ๆ ชิ้นก่อนหน้านี้ของโกลบอล ไทมส์ เช่นเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ยังมีการระบุถึงความเชื่อมโยงของกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในฮ่องกงกับการชุมนุมในประเทศไทย โดยบทความเรื่อง HK rioters criticized for meddling in Thai protests (ผู้ก่อจลาจลในฮ่องกงเข้ายุ่งเหตุการณ์ชุมนุมในไทย) โดยระบุว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่พยายามสร้างความแตกแยกในฮ่องกงกำลังหนีแรงกดดันจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่บังคับใช้ในฮ่องกง ออกมาสร้างความปั่นป่วนในประเทศไทยแทน โดยพวกเขาพยายามใช้การชุมนุมในประเทศไทย สร้างภาพลักษณ์และทำให้ตัวเองได้รับความสนใจ

สื่อจีนวิเคราะห์ม็อบเยาวชนไทยมีตะวันตกหนุนหลัง

หยาง เฉิง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความกล่าวว่า บรรดานักเคลื่อนไหวที่พยายามสร้างความแตกแยกในฮ่องกง กำลังส่งเสียงเชียร์ความปั่นป่วนวุ่นวายในที่อื่น ๆ เพราะพวกเขาทำเช่นนั้นที่ฮ่องกงไม่ได้แล้ว เนื่องจากถูกคุมเข้มด้วยกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ “พวกเขาต้องการที่จะสร้างสถานการณ์ที่ทำให้ชาวโลกเห็นว่า ความวุ่นวายและกระแสการต่อต้านรัฐบาลนั้นมันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆเช่นกัน เพื่อที่พวกเขาจะยังได้รับความสนับสนุนในฮ่องกงต่อไป

 

สื่อท้องถิ่นของจีน ยังได้นำเสนอภาพข่าวนายโจชัว หว่อง แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ไปปรากฏตัวแสดงความสนับสนุนการชุมนุมประท้วงในไทยที่หน้าสถานกงสุลไทยในฮ่องกงเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันโดยเฉพาะจากสื่อหลักของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ว่า สิ่งที่โจชัว หว่อง และแกนนำอีกหลายคนกำลังพยายามทำอยู่นี้ เป็นความพยายามดิ้นรนที่จะรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ พยายามดึงดูดความสนใจและรักษาฐานกลุ่มผู้สนับสนุนเอาไว้ ซึ่งความพยายามดังกล่าวหมายรวมถึงการเข้าแสดงความสนับสนุนการประท้วงในต่างประเทศ เพื่อที่ว่าสักหนึ่งพวกเขาจะสามารถกลับมาประท้วงในฮ่องกงอีกครั้งและได้รับพลังสนับสนุนจากแนวร่วมในต่างประเทศเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นบทวิเคราะห์ของสื่อหลักของจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มไปในทางต่อต้านชาติตะวันตก “โกลบอล ไทมส์” เองก็ยอมรับว่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดมายืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในไทย แต่ก็ตั้งข้อสังเกตโดยอ้างอิงความเห็นของนายสือ ลี่ผิง ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งชาติของจีน ที่ออกมาระบุว่า บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กซึ่งเป็นสื่อโซเชียลมีเดียของสหรัฐนั้น มีหลายบัญชีถูกปิดไปโดยจะสังเกตได้ว่าบัญชีที่ถูกปิดเหล่านั้นเป็นของฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลไทย แต่ในทางกลับกันเขาเห็นว่า บัญชีผู้ใช้ฝ่ายที่เผยแพร่ข้อมูลให้ร้ายรัฐบาลไทยกลับอยู่ได้ ไม่ถูกปิด “ผมคิดว่า อย่างน้อยเราก็เห็นได้ว่า สื่อหลักบางรายและสื่อโซเชียลมีเดียของโลกตะวันตกนั้นเลือกข้าง โดยเลือกที่จะอยู่ฝ่ายผู้ชุมนุม”  

 

ผู้เชี่ยวชาญอาเซียนศึกษาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยังมองด้วยว่า โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของไทย รวมทั้งประเทศอื่น ๆในอาเซียน อ่อนแอ ซึ่งเป็นจังหวะเหมาะที่อิทธิพลตะวันตกจะเข้ามาแทรกแซงในช่วงเวลานี้ “การชุมนุมในไทยยังไม่เข้าสู่ความโกลาหลเหมือนกับการชุมนุมในฮ่องกงซึ่งช่วงท้ายๆ มีการใช้ความรุนแรง แต่ถ้าหากยังมีการชุมนุมยืดเยื้อออกไป และผู้ชุมนุมยังได้รับทุนสนับสนุน การชี้นำ และการฝึกอบรมโดยกลุ่มชาวต่างชาติ สถานการณ์ก็จะเดินหน้าเข้าสู่ความรุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นในฮ่องกงปีที่แล้ว”