นวัตกรรมฝ่าวิกฤติโควิด-19 : บทเรียนสำคัญจากจีอี 

30 ต.ค. 2563 | 06:45 น.

จีอี (General Electric : GE) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและพลังงานจากสหรัฐอเมริกา เผยว่า เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า โดยเฉพาะ “นวัตกรรมการตรวจสอบระยะไกล” ช่วยให้บริษัทสามารถทำงานกับลูกค้าทั่วภูมิภาคอย่างใกล้ชิด และคงเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า ไว้ได้ แม้ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 และอุปสรรคจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้การเดินทางเข้าสู่พื้นที่โรงงานเป็นเรื่องลำบากยากยิ่ง หรือเป็นไปไม่ได้ 

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มอบบทเรียนมากมายให้กับโลกของเรา หนึ่งในนั้นคือบทบาทและความสำคัญของการมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องในสภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาล ที่ต้องมีไฟฟ้าใช้และอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ต้องสามารถใช้การได้ตลอดเวลา หรือการทำให้คนเราสามารถเชื่อมต่อถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย

 

แต่ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ ผู้ประกอบการและผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าต้องประสบกับ “ข้อจำกัด” ในการปฏิบัติงานที่ไม่คาดคิดมาก่อน เช่นการปิดพื้นที่ชายแดน การงดเว้นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ห่วงโซ่อุปทานที่สะดุดขัดข้อง และการจำกัดการทำงานที่โรงไฟฟ้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

 

ราเมช สิงการาม

“เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดในภูมิภาค เราต้องจัดการรับมืออย่างรวดเร็ว โดยความปลอดภัยของพนักงาน GE Gas Power กว่า 2,000 คนทั่วภูมิภาค ไม่ว่าจะที่สำนักงานและโรงไฟฟ้า เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เมื่อเรามั่นใจได้แล้วว่าพนักงานปลอดภัย สิ่งสำคัญที่สุดต่อไปคือการสนับสนุนและให้บริการแก่ลูกค้า” นายราเมช สิงการาม ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจพลังงานก๊าซ ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัทจีอี กล่าว และว่า

 

หัวใจสำคัญของ GE ในการรับมือวิกฤติครั้งนี้คือการร่วมมือและทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การให้คำปรึกษาในเรื่องการวางแผนและวิธีการทำงาน จากประสบการณ์การบริหารจัดการกังหันก๊าซในระดับสากลมาหลายล้านชั่วโมง การจัดการข้อมูล และการตรวจสอบจากพื้นที่จริง โดยใช้ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมระยะไกลที่ล้ำหน้าของ GE

นวัตกรรมฝ่าวิกฤติโควิด-19 : บทเรียนสำคัญจากจีอี 

ในช่วงเวลากว่า 6 เดือนที่ผ่านมา GE Gas Power ได้ให้บริการซ่อมบำรุง และทดสอบระบบของโรงไฟฟ้าหลายครั้ง และตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงสิงหาคมปีนี้ GE ได้ควบคุมดูแลการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า 14 แห่งทั่วโลก คิดเป็นกำลังการผลิตราว 3,900 เมกะวัตต์ และสำหรับภูมิภาคเอเชีย ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ทีมให้บริการลูกค้าของ GE ได้ให้บริการลูกค้าทั้งสิ้น 177 โครงการ ซึ่งรวมถึงการหยุดเพื่อซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ 48 ครั้ง โดยใช้เจ้าหน้าที่กว่า 1,300 คน และตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ได้มีการจัดประชุมเพื่อบริการลูกค้าทางไกล 6 ครั้ง และมีการตรวจสอบระยะไกลด้วยกล้องงู (borescope) ผ่านเครื่องมือดิจิทัลของ GE (Mentor Visual IQ) รวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง

 

 “แม้ว่าตอนแรก ลูกค้าจะไม่ค่อยแน่ใจในการทำงานระยะไกล แต่เราก็ได้แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าแล้วว่า เราสามารถจัดสรรผู้เชี่ยวชาญระดับสากลที่ตอบโจทย์ความต้องการให้แก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและไม่ติดขัด” ผู้บริหารของ GE กล่าว

 

นายราเมช ยังเสริมต่อด้วยมุมมองด้านเทคโนโลยีว่า “ในช่วงเวลาเช่นนี้ เราพยายามหาวิธีการก้าวข้ามความท้าทายให้ได้ วิกฤตครั้งนี้ได้ช่วยเร่งให้มีการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมระยะไกลที่เรามีอยู่ และทำให้ลูกค้าได้เห็นชัดว่าเครื่องมือเหล่านี้ทรงพลัง ทำให้ปฏิบัติงานได้เร็วขึ้น และเข้าถึงความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคที่ต้องการได้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ หรือผู้เชี่ยวชาญจะอยู่แห่งใดในโลกก็ตาม”

 

ยกตัวอย่าง เครื่องมือที่เรียกว่า HelpLightning เป็นแพลตฟอร์มอินเทอร์แอคทีฟเสมือนจริงในการให้คำแนะนำด้านเทคนิคแก่ลูกค้าแบบเรียลไทม์ และใช้กล้องงูจากระยะไกล (borescope) เพื่อตรวจสอบการทำงานของกังหันก๊าซ

 

เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงช่วยประเมินเรื่องเวลาที่เหมาะสมในการหยุดโรงไฟฟ้าเพื่อซ่อมบำรุง แต่ยังช่วยในกระบวนการซ่อมบำรุงอีกด้วย ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) และจำกัดการเดินทาง GE ได้ใช้ HelpLightning ในการซ่อมบำรุงในภูมิภาคเอเชียไปมากกว่า 1,000 ครั้ง รวมทั้งการติดตั้งกังหันก๊าซ 9FB ในจีนและไต้หวันด้วย

 

เทคโนโลยีวิศวกรรมทางไกลยังช่วยให้การทดสอบโรงไฟฟ้าสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ที่ ผู้เชี่ยวชาญของ GE ไม่สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ได้เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ด้วยการใช้ HelpLightning ทีมงานในพื้นที่จึงสามารถติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อดำเนินงานให้เสร็จสิ้นได้ในที่สุด

 

การทำงานแบบระบบลีน (lean) เพิ่มประสิทธิผลห่วงโซ่อุปทาน

เมื่อเทคโนโลยีวิศวกรรมทางไกลมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อผู้เชี่ยวชาญกับพื้นที่ทำงานได้ GE จึงได้ปรับใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปจากเดิมในการทำงาน เพื่อยืนยันว่าห่วงโซ่อุปทานยังสามารถดำเนินการส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ของลูกค้าได้ โดยใช้ “Lean Action Workout” (AWO) ที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งกระบวนการ ทำให้มีเวลาในการดำเนินงานแต่ละรอบสั้นลง มีประสิทธิภาพสูง และมีคุณภาพที่ดีขึ้น

 

การดำเนินงานด้วยระบบลีนที่ทำอย่างต่อเนื่องมานาน ตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 ทั้งที่โรงไฟฟ้าและสำนักงานของ GE ในเอเชีย ยังได้เอื้อให้การบริหารงานส่วนต่าง ๆ ดีขึ้น เช่นการบริหารชิ้นส่วนสำรองในช่วงการซ่อมบำรุงและการติดตั้ง รวมทั้งการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในศูนย์ซ่อมบำรุง

นวัตกรรมฝ่าวิกฤติโควิด-19 : บทเรียนสำคัญจากจีอี 

ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ

แม้ความสนใจของผู้คนจะพุ่งตรงไปกับการรับมือโควิด-19 เป็นพิเศษ แต่ผู้ปฏิบัติงานและผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าต่างตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศและการหันมาใช้พลังงานทดแทนจะส่งผลต่อการดำเนินงานในระยะยาว ซึ่งนายราเมชได้เสริมว่า ‘เทคโนโลยีของ GE ได้ช่วยผลิตไฟฟ้าราวหนึ่งในสามของกำลังการผลิตประมาณ 900 กิกะวัตต์ในภูมิภาคเอเชียนี้”

 

การเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตของการผลิตไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือและปราศจากคาร์บอนจะเผยให้เห็นบทบาทที่สำคัญมากขึ้นของพลังงานก๊าซ เห็นได้จากความต้องการและความสามารถในการผลิตพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพลังงานก๊าซได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีแล้วว่า มีกระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่ำ และใช้ต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำ ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสำหรับเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ ก๊าซยังมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นไปอีกระดับ จากที่ต้องผลิตไฟฟ้าอีกเกือบ 400 กิกะวัตต์ในทศวรรษที่จะถึงนี้ เป็นผลมาจากอนาคตที่ไม่แน่นอนของสภาวะการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน ที่กำลังยกเลิกการใช้ไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน ความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นยังสืบเนื่องมาจากความพยายามของรัฐบาลที่จะผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ และเข้าถึงประชากรอีกเกือบ 50 ล้านคนในอาเซียนที่ปัจจุบันยังไม่มีไฟฟ้าใช้

 

“วิกฤตทำให้เราประสบความยากลำบาก แต่ความท้าทายเหล่านี้ก็สร้างโอกาสในการค้นหาคำตอบใหม่ ๆ” ผู้บริหารของ GE ย้ำ และกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า นอกจากความสำคัญด้านความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงานแล้ว ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิด-19 บริษัทได้ค้นหาวิธีใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามาให้บริการและสนับสนุนลูกค้า ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็นไปตามกำหนด มีการแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงที่จำเป็น รวมทั้งทำการซ่อมบำรุงได้อย่างต่อเนื่อง

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อเสถียรภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้าทั่วภูมิภาค ซึ่งสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเป็นการปรับเปลี่ยนไปสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ และคุ้มค่ากับการลงทุน

- - - - - - - - -

เรียบเรียงจากบทความ RESILIENCE: POWERING THROUGH CHALLENGING TIMES เขียนโดย นายราเมช สิงการาม ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจพลังงานก๊าซ ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัทจีอี