ปภ.เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย 4จังหวัด

30 ต.ค. 2563 | 06:37 น.

อิทธิผลพายุโมลาเบ ทำฝนตกหนัก ส่งผลให้หลายจังหวัดในไทยประสบอุทกภัย ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สั่งการช่วยเหลือพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอย่างเร่งด่วน

วันที่ 30 ต.ค. 63  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่ 34 จังหวัด รวม 152 อำเภอ 545 ตำบล 2,325 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 88,967 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย(จันทบุรี ตรัง สุราษฎร์ธานี และปราจีนบุรี) บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี) 


โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และสุพรรณบุรี ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง และสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ 


ทั้งนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่าจากอิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 – ปัจจุบัน (30 ตุลาคม 2563 เวลา 06.00 น.) 


โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 34 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง อุทัยธานี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี นครปฐม ปทุมธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล และสงขลา 


รวมทั้งสิ้น  152 อำเภอ 545 ตำบล 2,325 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 88,967 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย (จันทบุรี ตรัง ปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย) ผู้บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี) แยกเป็น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 32 จังหวัด รวม 129 อำเภอ 514 ตำบล 2,284 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 88,899 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ในจังหวัดจันทบุรี ตรัง ปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย 
 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด"พายุโคนี"จ่อถล่มฟิลิปปินส์-เวียดนาม

จับตา พายุลูกใหม่ "พายุโคนี" เส้นทางเดินถึงไทย อีสานตอนใต้เตรียมรับมือฝนตกหนัก  

เกาะติด พายุลูกใหม่ "โคนี" จ่อเข้าไทยวันที่ 7 พ.ย. คาดอีสานตอนล่างอ่วม

เตือนภัยพายุลูกใหม่ "โคนี"จ่อถล่มฟิลิปปินส์

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 28 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมขัง 4 จังหวัด ดังนี้ 


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากช่อง อำเภอปักธงชัย อำเภอโชคชัย อำเภอโนนสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอพิมาย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอจักราช และอำเภอสูงเนิน รวม 25 ตำบล ระดับน้ำลดลง 


ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอกบินทร์บุรี รวม 13 ตำบล ระดับน้ำทรงตัว 


ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเคียนซา และอำเภอพุนพิน รวม 8 ตำบล ระดับน้ำลดลง 


ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองพี่น้อง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และอำเภอบางปลาม้า รวม 21 ตำบล ระดับน้ำลดลง 


พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี พังงา ชุมพร และอุบลราชธานีรวม 18 อำเภอ 25 ตำบล 35 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 77 หลัง บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 


พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ภูเก็ต สตูล และกระบี่ รวม 5 อำเภอ 6 ตำบล 6 หมู่บ้าน 
 

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัดหน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ รถบรรทุกติดตั้งเครน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังจุดอพยพ อีกทั้งแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อการดำรงชีพ


สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจประเมินความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย พร้อมจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งการประกอบอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ สาธารณูปโภค เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งซ่อมแซมและฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว