คนละครึ่ง ทำจีดีพีปีนี้ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม

29 ต.ค. 2563 | 05:13 น.

คลัง เผย โครงการคนละครึ่ง ทำจีดีพีปีนี้ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม เหลือ -7.7% จากเดิม -8.5% ยันพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเพิ่ม หากจำเป็น ด้านปีหน้า มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นเป็นบวกที่ 4.5%

                       นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวที่ 7.7% ต่อปี ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่จะติดลบ 8.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และเริ่มเปิดประเทศ ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 6.7 ล้านคน ลดลงกว่าปีก่อน 83.2% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.3 แสนล้านบาทได้

                  ส่วนเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน ส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าทั้งปีจะติดลบเพียง 7.8% ดีขึ้นกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะติดลบสูงถึง 11% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะติดลบ 9.8% ดีขึ้นกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่จะติดลบ 12.6% และรายจ่ายภาคสาธารณะ ทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐ และ รัฐวิสาหกิจ ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.9%

                ขณะที่มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายละ 500 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ส่งผลดีต่อจีดีพีประมาณ 0.54% รวมไปถึงการใช้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบ 3.85 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้

                 “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยคาดว่าอยู่ในระดับที่มั่นคง ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น  2.8%  ของจีดีพี ซึ่งเพียงพอต่อการออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม หากมีความจำเป็น โดยกระทรวงการคลังพร้อมจับตาอย่างใกล้ชิด หากมีการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 อีก”นายพรชัย กล่าว

                  อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง ที่เกิดการชุมนุมในขณะนี้ ว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด เพราะยังมองว่าการชุมนุมยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

 

               ส่วนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดการณ์ว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 4.5% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ที่ 6% การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวที่ 2.6% และการใช้จ่ายภาครัฐทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท และการเบิกจ่ายพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบ 3.18 แสนล้านบาท