5 เมกะโปรเจ็กต์ บูมอีอีซี ดึงต่างชาติปักหมุดในไทย

28 ต.ค. 2563 | 14:43 น.

สกพอ. เดินหน้า 5 เมกะโปรเจ็กต์ เขตอีอีซี ดึงทุนต่างชาติเข้าไทย คาดเม็ดเงินไหล 6.5 แสนล้าน รฟท.ลุยส่งมอบบริหารแอร์พอร์ต ลิงก์ปีหน้า  ขณะ MRO ส่อชะลอ

ท่ามกลางสถานการณ์ โควิด-การเมืองร้อนแรง รัฐบาลยังคงเร่งรัด  ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี แม่เหล็กดึงเม็ดเงินต่างชาติ เข้ามาปักหมุดในประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

 

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยว ชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยในงานสัมมนาของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจภายใต้หัวข้อ EEC GO เดินหน้าลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ว่า จากการดำเนินงานโครงการอีอีซีจนถึงมิถุนายน 2562 สร้างอัตราการขยายตัวการลงทุนภาคเอกชนเป็นบวก 3 ปีติดต่อกัน ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในพื้นที่อีอีซีราว 8.7% ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องยอมรับว่าเป็นผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยเฉพาะผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยว ที่คิดเป็น 17% ของจีดีพีในไทย ซึ่งจากประมาณการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) หรือไออาต้า คาดว่าผู้โดยสารจะกลับมาเดินทางภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่าปี 2562 ภายในปี 2566 

 

 “เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานราง น้ำ ถนน อากาศ เรามีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งปัจจุบัน 5 โครงการสำคัญ ได้ลงนามไปแล้ว 3 โครงการ ท่าเรือแหลมฉบังคาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จปีนี้ เพื่อลงนามต้นปีหน้ารวมเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด 6.5 แสนล้านบาท เป็นส่วนของรัฐ 42% และเอกชน 58% เดินหน้าเตรียมความพร้อมให้โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนนักลงทุน และประเทศ

 

ทั้งนี้ความคืบหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ที่ปัจจุบัน สกพอ.ผลักดันการร่วมทุนกับเอกชน 5 โครงการสำคัญ ประกอบไปด้วย 1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2. โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3  4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ 5. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา

 

การเวนคืนทั้ง 3 ช่วง นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่โครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)อธิบายว่า ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ช่วงบางซื่อ-สุวรรณภูมิ และบางซื่อ-ดอนเมือง ขณะนี้ ติดปัญหากรณีที่อีอีซีขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่เวนคืนที่ดินบางส่วน ต้องพิจารณาว่าพื้นที่ใดสามารถส่งมอบได้บ้าง

 

ขณะท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า มีการกำหนดจะต้องลงทุนสนามบินปีแรกให้ได้ 15.9 ล้านคนต่อปี และรองรับสูงสุดมากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ถือเป็นเงื่อนไขที่บังคับเอกชนไว้ในสัญญา เบื้องต้น เอกชนจะเริ่มก่อสร้างในเดือนธันวาคม 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

 

 “ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าซื้อซองประมูลในโครงการดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเป็นโลเคชั่นที่ดี มีความเป็นไปได้ รวมทั้งเชื่อว่าจะเป็นฮับของเอเชียได้ หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะช่วยโปรโมท 12 ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเมืองและการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ดี

 

5 เมกะโปรเจ็กต์ บูมอีอีซี ดึงต่างชาติปักหมุดในไทย

 

 

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังยืนยันเดินหน้า โดยการบินไทยเป็นบริษัทเดียวที่ทำซ่อมบำรุงอากาศยานในขณะนี้ ดังนั้นจะมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้อยู่แล้ว แต่เป้าหมาย สกพอ.ต้องการอัพเดตความรู้ จึงมีการเจรจาร่วมทุนกับแอร์บัส โดยในขณะนี้เนื่องจากการบินไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับโควิด -19 ทำให้มีการชะลอแผนลงทุนออกไป

 

ด้านท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือก ซึ่งโครงการนี้จะเป็นท่าเรือนำเข้าและส่งออก เพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าจากปัจจุบัน 11 ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี โดยโครงการนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าท่าเรือแหลมฉบังจะมีตู้สินค้าเกินขีดความสามารถการรองรับในปี 2567-2568 ดังนั้น การล่าช้าของโครงการนี้ก็อาจส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังวิกฤติเล็กน้อย

สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ระบุว่า แบ่งโครงการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จะเริ่มทำการถมทะเล และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ในพื้นทั้งหมด 1,000 ไร่ สามารถใช้พื้นที่ได้ 550 ไร่ ส่วนอีก 450 ไร่ จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 ปี จึงสามารถใช้งานได้  ส่งผลให้ มีพื้นที่เพียงพอในการทำโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโครงการนี้ โดยใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ขณะที่ภาครัฐช่วยดำเนินการขอใบอนุญาต และจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA )

 

ส่วนระยะที่ 2 จะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือก๊าซ LNG TERMIMAL โดยใช้พื้นที่รวม 200 ไร่ วงเงินลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาท และระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง LNG TERMIMAL ระยะที่ 2 วงเงินอีก 1 หมื่นล้านบาท

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3622