สมาคมจักรยานยนต์ฯ จี้ “คมนาคม” แก้ปัญหาวินเถื่อน

27 ต.ค. 2563 | 09:43 น.

สมาคมจักรยานยนต์ฯ ร้อง “คมนาคม” เร่งแก้ปัญหาวินเถื่อน วอนรัฐหนุนแอปวินจดทะเบียนถูกต้อง ด้านขนส่งลุยเอาผิด 551 ราย จ่อลงพื้นที่ตรวจสอบ เตรียมคาดโทษวินผิดกฎหมาย-ใช้เสื้อกั๊กเถื่อน

นายเฉลิม  ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย พร้อมสมาชิกเข้ามาพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการติดตามทวงถามถึงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างสาธารณะที่ได้ยื่นร้องเรียนไป โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม  ว่า สำหรับการทวงถามครั้งนี้มี 6 ข้อ ได้แก่ 1.เรื่องของปัญหาวินเถื่อนที่มาเปิดให้บริการแบบผิดกฎหมาย โดยเฉพาะวินเถื่อนที่หน้าตึกสิงห์ ที่ร้องเรียนไปตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.63 จนถึงปัจจุบันยังเปิดให้บริการแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ตามรายงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจ 2 ครั้ง ในรอบ 9 เดือน ทั้งที่ส่งคลิปวีดีโอการกระทำผิดให้ดูเกือบทุกวัน 2.ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องคดีที่ให้ได้ดำเนินการแจ้งความ ในการกระทำผิดของบริษัทแกร็บ ที่ สน.มักกะสัน 1 ปีแล้ว กลับไม่มีความคืบหน้าเรื่องคดีแต่อย่างใด

สมาคมจักรยานยนต์ฯ  จี้ “คมนาคม” แก้ปัญหาวินเถื่อน

 

3.ขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ขนส่งและเจ้าหน้าที่เขต ออกบัตรเหลืองให้กับสมาชิกที่ยังไม่ได้มีการลงทะเบียน หรือหัวหน้าวินส่งรายชื่อเพื่อลงทะเบียนแต่กลับมีบัตรเหลืองออกก่อนที่จะทำการลงทะเบียนเสียอีก ผ่านมา 2 เดือนแล้วยังไม่มีผลการสอบสวนออกมา 4.ขณะนี้วินหลายวิน ได้มีหัวหน้าวิน หรือผู้มีอิทธิพลภายในวินและนอกวินได้ทำการตัดเสื้อวินมาปล่อยเช่าหรือยึดเสื้อเบอร์ที่ว่างนำมาปล่อยเช่าจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้สมาชิกในวินเหล่านั้น 

 

5.ที่ประชุมยืนยันแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขกฎหมายให้บริษัทแกร็บนำรถที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นป้ายสาธารณะ (ป้ายดำ) มารับ-ส่ง ผู้โดยสารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ ทางนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ควรออกมาประกาศให้สังคมและประชาชนได้รับทราบ และควรบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทแกร็บ แต่ยังนิ่งเฉยไม่มีมาตรการป้องกันออกมา ทั้งที่ทางสมาคมฯ ได้ส่งข้อมูลเสนอให้อยู่อย่างต่อเนื่อง 

 

และ 6.ตลอดเวลาที่ อธิบดี ขบ. เข้ารับตำแหน่งไม่เคยเรียกสมาคมฯ และผู้ประกอบอาชีพรถ จยย.รับจ้างสาธารณะ หรือแกนนำเข้าร่วมหารือแนวทางแก้ปัญหาเรื่องที่เกิดขึ้น แม้ทางสมาคมจะขอเข้าพบหลายครั้งไม่เคยได้พบ และทุกครั้งที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่แต่ไม่มีอำนาจสั่งการหรือตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ ในการแก้ปัญหาอาชีพ จยย.รับจ้าง

“ปัจจุบันพบว่ามีจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 200,000คัน สามารถรับ-ส่งผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อวัน ทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนในระบบราว 2 ล้านบาทต่อวัน  ที่ผ่านมาเมื่อกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างมีการบอกกล่าวตักเตือนถึงการวิ่งให้บริการกลุ่มแกร็บวินในเขตของกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน โดยกลุ่มแกร็บวินมีการตอบกลับว่าห้ามถ่ายรูปส่งให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพราะเขาก็ทำมาหากินเหมือนกัน และโดนปรับเงินหลายเท่า  ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องและกลุ่มแกร็บวิน ขณะเดียวกันเราได้รับรายงานว่ากลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างบางส่วนที่มีอิทธิพลหลายแห่งมีการยืนยันว่ากลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างเหล่านี้มีเจ้าหน้าที่สนับสนุนเช่นกัน ทั้งนี้เราได้ขอให้การจัดประชุมเกี่ยวกับการจัดระเบียบจักรยานยนต์รับจ้างในครั้งถัดไป ทางสมาคมอยากมีส่วนร่วมเข้าไปเสนอแนะคณะอนุกรรมการฯ เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว สามารถเดินไปด้วยกันได้ โดยไม่เกิดความขัดแย้ง”

 

นายเฉลิม  กล่าวต่อว่า  ถึงแม้ว่าบริษัทแกร็บมีแอปพลิเคชันแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งทางจักรยานยนต์รับจ้างต้องการให้มีแอปพลิเคชันเพื่อสามารถวิ่งให้บริการประชาชนได้สะดวกมากขึ้น แต่ไม่มีงบประมาณในการทำแอปฯ จึงอยากให้ภาครัฐช่วยดำเนินการหรือทางบริษัทแกร็บควรนำจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนมาวิ่งให้บริการ และไม่ควรนำวินที่ไม่ได้จดทะเบียนมาวิ่ง เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน เนื่องจากกฎหมายมีความชัดเจนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันจักรยานยนต์รับจ้างไม่สามารถให้บริการข้ามเขตได้และถูกจำกัด การวิ่งให้บริการ โดยกำหนดให้ไม่เกิน 125 ซีซี  ขณะที่จักรยานยนต์รับจ้างที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถให้บริการได้ถึง200-300ซีซี   ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ถูกเอาเปรียบได้อย่างชัดเจนทั้งนี้กรมการขนส่งได้รับทราบถึงข้อร้องเรียนแล้ว เบื้องต้นจะเร่งดำเนินการและประชุมหารือร่วมกันบ่อยขึ้น ซึ่งจะมีการนัดประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นเตรียมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่มีการร้องเรียน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า

นายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดี ขบ. กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ติดตามความคืบหน้า และมาทวงถามคำตอบตามที่เคยได้ยื่นไปก่อนหน้านี้แล้ว กรณีที่มีบริษัทเปิดให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านทางแอพพลิเคชั่น และนำรถส่วนบุคคลมารับจ้าง (ป้ายดำ) พร้อมทั้งนำรถป้ายเหลืองมาวิ่งให้บริการนอกเขตวินที่จดทะเบียน โดยในปีงบประมาณ 63 ขบ.ได้ดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด จำนวน 551 ราย 

 

นอกจากนี้สมาคมยังเร่งรัดให้ ขบ. ลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินการลงโทษกับการให้บริการของวินเถื่อนในหลายพื้นที่ รวมถึงการใช้เสื้อวินหรือเสื้อกั๊กเถื่อน และการหมุนเวียนใช้เสื้อวิน โดยการตัดเสื้อวินมาเอง แล้วนำมาวิ่งให้บริการ หลังจากนี้ ขบ.จะเพิ่มมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย และใช้บทลงโทษอย่างเข้มงวด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจการณ์ตามที่สมาคมฯ ได้ให้ข้อมูล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป

 

นายธานี กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการให้บริการรถ จยย. ผ่านแอพฯ นั้น อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาคมฯ รวมถึงตัวแทนผู้ขับขี่รถ จยย. รับจ้างถึงแนวทางดำเนินการ อาทิ การจัดทำแอพฯ กลาง เพื่อให้รถ จยย. เข้าสู่ระบบและให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งพิจารณากำหนดและขยายพื้นที่การวิ่งให้บริการได้ จากนั้นจะเร่งตกผลึกและสรุปแนวทางดำเนินการ ก่อนเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา และเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป อาทิ แก้กฎกระทรวงและกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อรองรับรถดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย คาดว่าจะใช้เวลาการดำเนินการไม่นาน และมีผลบังคับใช้ต่อไปในอนาคต