ทักษะทางการเงิน การ nudge และความยั่งยืนทางการเงินหลังเกษียณ

28 ต.ค. 2563 | 04:05 น.

ทักษะทางการเงิน การ nudge และความยั่งยืนทางการเงินหลังเกษียณ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  ผศ.ดร.มนชยา อุรุยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,622 หน้า 5 วันที่ 29 - 31 ตุลาคม 2563

 

ทักษะทางการเงินช่วยให้เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่าย มีความสามารถในการกระจายความเสี่ยงของเงินออมไปในทรัพย์สินเพื่อการลงทุนต่างๆ เพื่อแสวงหาโอกาสที่จะทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และก่อให้เกิดความยั่งยืนทาง การเงินหลังเกษียณได้  

 

บทความนี้จะทำการสรุปข้อค้นพบจากงานวิจัยมนชยา อุรุยศ (2020) ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับทักษะทางการเงิน พฤติกรรมทางการเงิน และความยั่งยืนทางการเงินของบุคลากรที่ทำงานในองค์กรทางการเงินแห่งหนึ่ง โดยทำการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างทักษะทางการเงิน ที่คำนวณจากแบบทดสอบทางการเงินขั้นพื้นฐานและขั้นสูงกับพฤติกรรมทางการเงินที่คำนวณจากแบบสอบถามที่ประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเงินใน 5 ด้านด้วยกัน 

 

พบว่า ทักษะทางการเงินส่งผลทางบวกต่อดัชนีชี้วัดพฤติกรรมทางการเงินรวมอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากมีการควบคุมความแตกต่างทาง ด้านประชากรศาสตร์ ระดับการศึกษา ประเภทของงาน สถานะทางการเงิน และปัจจัยทางด้านจิตวิทยาแล้ว ยืนยันว่าทักษะทางการเงินมีความสำคัญต่อการกำหนดพฤติกรรมทางการเงินจริง และเมื่อวิเคราะห์ในองค์ประกอบของทักษะทางการเงิน พบว่าเฉพาะความรู้ทางการเงินขั้นสูงที่ส่งผลต่อการเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมทางการเงินในแต่ละด้านอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากองค์กรต้องการยกระดับพฤติกรรมทางการเงินส่วนบุคคลให้ดีขึ้น ควรจะเน้นความรู้ทางการเงินขั้นสูงซึ่งหลักๆ คือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออมการลงทุน ความแตกต่างกันทางด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงของแต่ละผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากกว่าที่จะให้ความรู้ทางการเงินพื้นฐานทั่วๆ ไป

 

ปัจจุบันมีโครงการจำนวนหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย รวมถึงโครงการที่จัด โดยธนาคารแห่งประเทศ ไทยเอง งานวิจัยต้องการที่จะตอบโจทย์ว่า นโยบายการอบรมระยะสั้น จะส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินมากน้อยเพียงไร เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น เช่น การ nudge ซึ่งใช้ต้นทุนในการทำที่ตํ่ากว่าอาจจะให้ผลต่อความยั่งยืนทางการเงินที่ดีกว่าก็เป็นได้ 

 

งานวิจัยนี้จึงทำการวิจัยเชิงทดลอง โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการอบรมทางการเงินระยะสั้น (treatment group) กับกลุ่มที่ไม่ได้รับการอบรม (control group) แล้วดูว่าผู้ที่ผ่านการอบรมทางการเงินจะมีการตัดสินในทางการเงินได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการอบรมหรือไม่ ผ่านการเล่นเกมจำลองสถานการณ์ทางการเงิน เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนภายใต้สถานการณ์ต่างๆ เพื่อทดสอบว่า ผู้เข้าร่วมเล่นเกมจะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับทักษะทางการเงิน ที่เรียนมาในการตัดสินใจในการลงทุนทางการเงินได้หรือไม่ 

 

พบว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่มี ทักษะทางการเงินตํ่าจะมีจำนวนช่องทางการลงทุน และผลได้จากการลงทุน (performance) ที่ตํ่ากว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีทักษะทางการเงินสูงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการกระจายความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสที่จะทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งจะโยงไปยังการมียอดทรัพย์สินสุทธิคงเหลือเป็นบวกมูลค่ามากได้ 

 

อย่างไรก็ดี การอบรมระยะสั้นไม่ทำให้เกิดความแตกต่างในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม แต่นั่นมิได้หมายความว่านโยบายการเพิ่มความรู้ทางการเงินจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนทางการเงิน เนื่องจากข้อจำกัดของการอบรมในงานวิจัยนี้เป็น การอบรมระยะสั้นมาก ซึ่งอาจไม่มากพอที่จะเพิ่มความรู้ทางการเงินให้กับผู้เข้าร่วมก็เป็นได้ 

 

ประเด็นที่งานวิจัยนี้ต้องการที่จะเน้น คือการเลือกออมในกองทุน สำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเปรียบเสมือนการลงทุนในระยะยาวโดยสมัครใจรูปแบบหนึ่ง และมีความสำคัญมากต่อพนักงานเงินเดือนเมื่อถึงวัยเกษียณอายุ หรือ ทุพพลภาพ ที่พิเศษกว่านั้นคือนายจ้างจะเป็นผู้จ่าย “เงินสมทบ” เข้ากองทุนด้วย จากข้อมูลพบอัตราการสะสมสำหรับกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7 ของเงินเดือน แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งไม่มีการหักเงินเดือนเข้ากองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพเลย และเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราสะสมสำหรับกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพกับยอดหนี้ 

 

 

 

พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีการหักเงินเดือนเข้ากองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพเลย คือกลุ่มที่มีภาระหนี้สูงที่สุด และมีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนทางการเงินหลังเกษียณอายุที่สุด และผู้ที่อายุใน ช่วง 21-30 ปี มีการเลือกอัตราเงินสะสมตํ่าที่สุด ดังนั้น นโยบายการกำหนดให้นายจ้างจ่ายสมทบให้กับลูกจ้างในอัตราเดียวกันกับที่ลูกจ้างเลือกออมเงินสะสมสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (matching funds) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างเพิ่มการออมส่วนบุคคลตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน แทนนโยบายที่การจ่ายสมทบแปรตามอายุงานที่ไม่ได้สร้างแรงจูงใจในการออมให้กับลูกจ้างเลยจึงควรได้รับการพิจารณา

 

ทักษะทางการเงิน การ nudge  และความยั่งยืนทางการเงินหลังเกษียณ

 

 

งานวิจัยยังได้ทำการทดสอบทางจิตวิทยา พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีความโน้มเอียงด้านจิตวิทยา ทั้งด้านความเอนเอียงในการให้คุณค่ากับปัจจุบัน (Present Bias) ความเอนเอียงในการกลัวความสูญเสีย (Loss Aversion Bias)  และความเอนเอียงในการไม่ชอบความเสี่ยง (Risk Aversion Bias) สะท้อนว่าในทางปฏิบัติแล้ว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร อาจมิได้มีระบบความคิดแบบมีเหตุมีผลตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักตั้งสมมติฐานเอาไว้ 

 

งานวิจัยพบว่า ผู้ที่ไม่มี Present bias และไม่มี Loss Aversion Bias จะมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินสะสมสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงกว่า ผู้ที่มี Present bias และมี Loss Aversion Bias อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อบุคคลที่มี Present bias ได้รับการ nudge ในรูปแบบที่ 1 คือการใส่ข้อความที่ กระตุ้นให้บุคคลคำนึงถึงชีวิตที่ยืนยาวหลังเกษียณพร้อมจำนวนเงินที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้สามารถบรรลุอิสรภาพทางการเงินได้ จะทำการออมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

 

นอกจากนี้พบว่าบุคลากรประมาณ 3 ใน 4 มี Loss aversion bias และเมื่อคนกลุ่มนี้ได้รับการ nudge ในรูปแบบที่ 2 ที่กระตุ้นยํ้าถึงประโยชน์ที่จะสูญเสียไปหากไม่ทำการสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คนกลุ่มที่มี Loss aversion bias จะตอบสนองต่อการทำ nudge รูปแบบนี้อย่างมาก สะท้อนในการตัดสินใจเพิ่มอัตราเงินสะสมสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกือบเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่มี Loss aversion bias เหมือนกัน แต่ไม่ได้รับการ nudge ในรูปแบบดังกล่าว

 

การวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติที่ชี้ว่า ดัชนี้ทักษะทางการเงินส่งผลทางบวกต่อตัวแปรพฤติกรรมทางการเงินในด้านต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สนับสนุนนโยบายใดๆ ก็ตามที่พุ่งเป้าไปที่การเพิ่มทักษะทางการเงิน องค์กรภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศ ไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรมีแผนอย่างต่อเนื่องในการปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการเงินส่วนบุคคล เปลี่ยนจากสังคมการบริโภคเป็นสังคมการออม ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเงิน และการลงทุน และส่งเสริมให้มีการกระจายความรู้ดังกล่าวไปอย่างกว้างขวางให้แก่ประชาชนอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง ภาคสถาบันการเงินทั้ง ภาครัฐและเอกชนควรมีบทบาทที่สำคัญในการออกแบบและส่งผ่านโครงการความรู้ทางการเงินขั้นสูง

 

 

 

และจากผลการทดลองในงานวิจัยที่พบว่าการอบรมระยะสั้นแทบไม่ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจทางการเงิน ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะทางการเงินจำเป็น ต้องเริ่มตั้งแต่อายุน้อย โดยบรรจุการวางแผนทางการเงินเข้าไปในรายวิชาการเรียนตั้งแต่ ระดับประถมศึกษา ที่สำคัญ นโยบายเกี่ยวกับการให้ความรู้ ควรมีการทำการสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเงินเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (talilored financial education programs ไมใช่ one size fit all) การอบรมควรเน้นเฉพาะความรู้ที่ขาด ใช้เวลาที่น้อยลงแต่ได้ประโยชน์มากที่สุด 

 

และโครงการการเพิ่มทักษะทางการเงินควรมีทั้งช่องทางดั้งเดิม คือการเรียนการสอนในชั้นเรียน การเสวนา สิ่งพิมพ์ สื่อพื้นฐานเดิม ควบคู่กับช่องทางรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นแนวกึ่งสันทนาการ เช่น การเล่นเกมทางการเงิน (ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงประโยชน์และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ) การเล่าเรื่องที่มีเนื้อเรื่องเป็นหนทางในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การทำละครโทรทัศน์ที่ตัวเอกของเรื่องต้องจัดการทางการเงิน การใช้แอพพลิเคชันที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือในการควบคุมการใช้จ่าย เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ นโยบายการ nudge ควรได้ รับการส่งเสริมให้นำมาใช้เพื่อกระตุ้นการออมอย่างแพร่หลายขึ้น เนื่องจากใช้ต้นทุนตํ่ามากแต่ แก้ปัญหาการออมในระดับตํ่าของบุคคลได้ตรงจุด เมื่อเทียบกับนโยบายการอบรมระยะสั้นที่มีต้นทุนที่สูงกว่าแต่มีประสิทธิผลน้อยกว่า ส่งผล ให้กลุ่มตัวอย่างที่มีทั้ง Present bias และ Loss aversion bias เลือกอัตราเงินสะสมสำหรับกองทุน สำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการตอบสนองกับ nudge ในรูปแบบที่ 2 

 

นอกจากนี้องค์กรที่ใช้ระบบการสมทบเงินกองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพแบบเพิ่มอัตราการสมทบตามอายุงาน ควรจะปรับเป็นสมทบในอัตราเดียวกันกับที่ลูกจ้างเลือกสะสมสำหรับเงินกองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ (matching funds) นโยบายที่ใช้ต้นทุนตํ่าต่างๆ เหล่านี้จึงควรได้รับการพิจารณาไปประยุกต์ใช้จากผู้วางนโยบายที่เกี่ยวข้องด้วยความรวดเร็ว เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการเงินของประเทศในระยะยาวได้ต่อไป