130 อ่าง เร่งระบายน้ำ รับมือ "พายุโมลาเบ”

27 ต.ค. 2563 | 05:00 น.

กอนช.แจ้งด่วน 130 อ่าง เร่งระบายน้ำรับมือ "พายุโมลาเบ” หวังลดพื้นที่น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน  ด้าน กทม. ไม่น้อยหน้า สร้างปราการป้องน้ำ พร้อมรับมือ

สำเริง แสงภู่วงค์

 

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง กอนช. ให้เร่งระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำเกินความจุเก็บกัก 130 อ่าง จากผลกระทบ พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” (พายุระดับ 5) ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ,อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง

 

อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 124 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ จำนวน 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 76 แห่ง ภาคกลาง จำนวน 4 แห่ง ภาคตะวันออก จำนวน 20 แห่ง  ภาคตะวันตก จำนวน 11 แห่ง และภาคใต้ จำนวน 3 แห่ง เพื่อลดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่อยู่พื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ

 

อย่างไรก็ดีทาง กอนช.ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่อง  เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมขัง ฉบับที่ 14/2563  ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 (243/2563) ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เวลา 17.00 น. เรื่อง พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้มีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

 

130 อ่าง เร่งระบายน้ำ รับมือ "พายุโมลาเบ”

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินฝนจากแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝน (One Map) พบว่า ในช่วงวันที่ 28-30 ตุลาคม 2563  จะมีฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำและลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำเกินความจุและน้ำหลากเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำ และ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำทุกขนาด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบดูแล รวมทั้งอาคารบังคับน้ำระบบชลประทานต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ตลอดจนสำรวจและกำจัดสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ หากมีการชำรุดเสื่อมสภาพ ขอให้เร่งซ่อมแซมบำรุงรักษา และรายงานให้ กอนช.ทราบทันที

 

 

ในกรณีที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงโครงสร้างเขื่อน ขอให้หน่วยงานเตรียมแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน บุคลากร รวมถึงเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อรับมือสถานการณ์ได้ทันที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบให้ทราบล่วงหน้า จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยเครื่องจักรเครื่องมือ และดูแลบำรุงรักษาระบบสื่อสารหลักให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเตรียมระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในการรับมือ "พายุโมลาเบ"

130 อ่าง เร่งระบายน้ำ รับมือ "พายุโมลาเบ”

 

 

ขณะที่ ด้านสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยกองระบบคลอง จัดเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการสร้างแนวคันดินเพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วมถนนอนามัยงามเจริญ สูงประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 300 เมตร พร้อมทั้งเรียงกระสอบทรายความสูงประมาณ 0.40 เมตร บริเวณริมไหล่ทางด้านติดกับคลองเฉลิมชัยพัฒนาจากซอยอนามัยงามเจริญ 37 ถึงทางโค้งคลองรางสะแก ความยาวประมาณ 500 เมตร โดยใช้กระสอบทรายจำนวน 6,000 ใบ  ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง เกิดจากลักษณะทางกายภาพของถนนอนามัยงามเจริญไม่มีแนวท่อระบายน้ำและผิวจราจรมีระดับต่ำ นอกจากนี้ถนนยังได้ขนานควบคู่ไปกับคลองเฉลิมชัยพัฒนา เมื่อฝนตกหนักหรือน้ำหนุนสูง จะส่งผลให้น้ำในคลองเอ่อล้นและไหลบ่าเข้าท่วมถนนอนามัยงามเจริญได้  ซึ่งถนนอนามัยงามเจริญ จะต้องพัฒนาระบบระบายน้ำต่อไป