สินค้าฝรั่งเศสถูกบอยคอต โลกมุสลิมไม่ปลื้มคอมเมนท์ “มาครง”

27 ต.ค. 2563 | 04:40 น.

จากประเด็นคดีฆาตกรรมในประเทศฝรั่งเศส กำลังลุกลามกลายเป็นประเด็นร้อนด้านการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศในโลกมุสลิม ที่ตอนนี้หลายประเทศกำลังรณรงค์ "ต่อต้านสินค้าฝรั่งเศส" กันแล้ว

 

 คดีฆาตกรรมโหดนายซามูเอล พาตี ครูสอนวิชาสังคมศึกษาชาวฝรั่งเศส ด้วยการฆ่าตัดคอเมื่อกลางเดือนต.ค.นี้ หลังจากที่เขาพูดถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยการยกตัวอย่าง รูปการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด ที่เคยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “ชาร์ลี เฮบโด” ซึ่งต่อมา ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้ออกมาแสดงความเสียใจ และให้ความเห็นสนับสนุนหลักการสอนของครูพาตี พร้อมทั้งกล่าวว่า จะเข้าไปคุมเข้มชุมชนชาวมุสลิมทั่วประเทศฝรั่งเศส และจะผลักดันกฎหมายเพื่อป้องกันการเกิดคดีสะเทือนขวัญแบบนี้ในอนาคต รวมทั้งจะต่อสู้กับชาวมุสลิมแบ่งแยกดินแดน ที่สร้างปัญหาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสขณะนี้

ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิป เออร์ดวน แห่งตุรกี

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส

ท่าทีดังกล่าวของผู้นำฝรั่งเศส สร้างความไม่พอใจให้กับหลายประเทศในโลกมุสลิม ล่าสุดคือ ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิป เออร์ดวน ของตุรกี ซึ่งเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดและประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศก็เป็นมุสลิม ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เขากล่าวประณามประธานาธิบดีมาครงอย่างรุนแรงว่า ควรเข้ารับการบำบัดทางจิตเกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม

 

การแสดงความคิดเห็นของนายมาครงที่สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิม กำลังส่งผลกระทบแวดวงธุรกิจทั่วประเทศ โดยล่าสุด บริษัทอาหารอาหรับหลายแห่ง ได้เก็บผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตโดยบริษัทฝรั่งเศสออกจากชั้นวางสินค้าภายในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อตอบโต้คำพูดของปธน.ฝรั่งเศสเกี่ยวกับชาวมุสลิม นอกจากนี้ ยังได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ คว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ของฝรั่งเศส พร้อมทั้งติดแฮชแท็กเป็นภาษาอังกฤษว่า #BoycottFrenchProducts และเป็นภาษาอาหรับว่า #ExceptGodsMessenger ในกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งได้แก่ คูเวต กาตาร์ ปาเลสไตน์ อียิปต์ อัลจีเรีย จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี

 

กระทรวงการต่างประเทศของจอร์แดน ออกแถลงการณ์ว่า การเผยแพร่เนื้อหาที่มีวัตถุประสงค์ล้อเลียนทางศาสนาโดยอ้างเรื่องของเสรีภาพ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติและมีเจตนาชี้นำในทางที่ผิด ด้วยการเชื่อมโยงความเชื่อทางศาสนาเข้ากับการก่อการร้าย ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านของจอร์แดนก็ได้เรียกร้องให้นายมาครงออกมากล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ

ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในคูเวตนำสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศส ออกจากชั้นวางจำหน่าย (ภาพข่าวเอเอฟพี)

นอกจากจอร์แดนแล้ว ยังมีคูเวต และกาตาร์ ที่มีความเคลื่อนไหวร่วมมาตรการต่อต้านฝรั่งเศส โดยในคูเวต ประธานและสมาชิกบอร์ดบริหารของสังคมสหกรณ์อัล-นาอีม ประกาศคว่ำบาตรสินค้าของฝรั่งเศสทั้งหมดและเอาสินค้าเหล่านี้ออกจากชั้นจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่ง ส่วนในกาตาร์ บริษัทผลิตนมวิจบาห์ ประกาศคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์นมจากฝรั่งเศสและหันไปสั่งซื้อผลิตภัณฑ์นมจากประเทศอื่นแทน

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยกาตาร์ ยังได้ร่วมวงคว่ำบาตรฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน ด้วยการยกเลิกจัดกิจกรรม"สัปดาห์วัฒนธรรมฝรั่งเศส" อย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจงใจละเมิดศาสนาอิสลามและสัญลักษณ์ของชาวมุสลิม

 

ในแถลงการณ์บนทวิตเตอร์ของมหาวิทยาลัยกาตาร์ระบุว่า การมีอคติต่อความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์และสัญลักษณ์ของอิสลามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้และการละเมิดเหล่านี้เป็นภัยต่อค่านิยมของมนุษย์โลกตลอดจนหลักธรรมสูงสุดที่สังคมต่าง ๆ ให้การยอมรับ

ด้านสภาความร่วมมืออ่าวเปอร์เซีย(จีซีซี) ออกมาระบุว่า คำพูดของมาครงแสดงถึงความ “ไม่รับผิดชอบ” และมีจุดมุ่งหมายแพร่กระจาย “วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง” ในหมู่ประชาชน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศคูเวต ออกแถลงการณ์เตือนว่า การโยงชาวมุสลิมเข้ากับลัทธิก่อการร้ายสะท้อนถึงการบิดเบือนความเป็นจริง ดูถูกคำสอนของอิสลาม และทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกเกิดความไม่พอใจ

 

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในหลายประเทศมุสลิม กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ต.ค.) ระบุว่า การรณรงค์ต่อต้านสินค้าฝรั่งเศสนั้น “ไม่ยุติธรรม” และควรยุติในทันที นอกจากนี้ ยังออกโรงปกป้องการแสดงความคิดเห็นของปธน.มาครงว่า ไม่ได้มีเจตนาสร้างความเกลียดชัง แต่ต้องการเพียงแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ควรมีอิสระเสรีภาพในการคิด การแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในด้านศาสนาและความเชื่อด้วย แต่คำพูดของเขากลับถูกนำไปบิดเบือนเพื่อหาประโยชน์ทางการเมือง   

 

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเยอรมนี ได้ออกมาแสดงความสนับสนุนและยืนหยัดเคียงข้างฝรั่งเศส โดยนายไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ให้ความเห็นว่า เยอรมนียืนหยัดมั่นคงเคียงข้างฝรั่งเศส เช่นเดียวกับผู้นำกรีซและออสเตรีย ที่แสดงความสนับสนุนฝรั่งเศสเช่นกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

Calls to boycott French products grow in Muslim world after Macron backs Mohammed cartoons