นายกฯเปิดไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญเสร็จธ.ค.63

26 ต.ค. 2563 | 10:35 น.

"นายกฯ"ประกาศกลางสภาหนุนแก้รัฐธรรมนูญเต็มที่ คาดพิจารณาวาระ1-3 เสร็จธ.ค.นี้ ระบุเลือกนายกฯใหม่ตอนนี้หนีไม่พ้นส.ว.ร่วมโหวตด้วย

 

วันนี้ (26 ต.ค.63) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ และเสนอทางออกของประเทศ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐบาลได้มีการหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาล ทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หารือกันว่าควรเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาอย่างไร  อีกทั้งตนได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว

 

นายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จะมีการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือน พ.ย. ซึ่งการพิจารณาวาระที่ 1-3 น่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค.นี้  แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องมีการทำประชามติก่อน โดยรัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า และหลังจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงจะมีการทำประชามติ

 

“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า จากที่ได้ฟังประเด็นต่างๆ การอภิปรายตลอดทั้งวันนั้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด 

 

ส่วนกรณีที่เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่งนั้น ตนได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว ถ้านายกฯ ลาออก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ได้รับคำตอบว่า ถ้านายกฯ ลาออก ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) ซึ่งระบุว่า นายกฯ และครม.จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ใหม่เข้ารับหน้าที่ และจะต้องมีการเลือกนายกฯ คนใหม่จากรัฐสภา โดยต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จะอาศัยเสียงส.ส.ไม่ว่าจะพรรคข้างใดข้างหนึ่ง ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ต้องมีเสียง ส.ว.ด้วย

 

ส่วนการยุบสภาก็จะทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ทุกคนสิ้นสุดลง ตนจึงไม่แน่ใจว่าต้องการเช่นนี้กันหรือไม่

 

 

ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ รัฐสภา ชี้แจงว่า กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ พิจารณาเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา และได้ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขณะที่การจัดทำรายงานนั้นอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์จำนวน 400 เล่ม 

 

ทั้งนี้ ผลการพิจารณาไม่ได้มีการลงมติใดๆ เพราะต้องเสนอให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจ ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ครบกำหนดในวันที่ 11 พ.ย.นี้ และจะถูกนำมาพิจารณาพร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาได้พิจารณา สำหรับญัตตินั้นขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาพิจารณา