เชียงการีลา  หั่นราคา ขยายสาขาสู้ตลาดล่าง    

26 ต.ค. 2563 | 09:55 น.

ปัจจัยลบทุบธุรกิจร้านอาหาร “เชียงการีลา” พลิกแผนส่งโมเดล “ฟู้ดคอร์ท” รุกตลาดกลาง-ล่าง จ่อเปิดเพิ่ม 2 สาขา เสริมแกร่งกิจกรรม หวังฟื้นยอดไตรมาส 4 หลังเทศกาลไหว้พระจันทร์ ยอดหด 15%

นายบัญชา พจชมานะวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ภัตตาคารแกรนด์เชียงการีลา จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังเปิดตัวโมเดลใหม่ “เชียงการีลาฟู้ดคอร์ท” ไปแล้ว 3 สาขาในห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดระดับกลาง-ล่าง เพื่อสร้างการเข้าถึงของลูกค้ามากขึ้น ทั้งในแง่ของโลเคชั่น และราคาที่เข้าถึงง่ายเริ่มต้นที่ 70 บาท ในการรองรับการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง และได้รับเสียงตอบรับจากกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ กลุ่มฐานลูกค้าเดิม และกลุ่มชาวจีนทีทำงานอยู่ในไทยได้เป็นอย่างดี


ล่าสุดแผนงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้บริษัทจะขยายสาขาในรูปแบบดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยมีแผนขยายเพิ่มในฟู้ดคอร์ทอีก 2 สาขาภายในสิ้นปีนี้ และอีก 4-5 สาขาในปีหน้า เบื้องต้นคงต้องรอดูสถานการณ์การเติบโตของสาขาทั้งหมดในปัจจุบันก่อน

 

“ลูกค้าส่วนใหญ่จะมองว่าภัตตาคารอาหารจีนนั้นมีราคาแพง และเป็นกลุ่มตลาดระดับกลาง-บน มากกว่า ทำให้บริษัทเริ่มมีแนวคิดในการขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดระดับกลาง-ล่างมากขึ้น ด้วยการเปิดตัวโมเดลดังกล่าว เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้เข้าถึงแบรนด์มากขึ้น โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดสตรีทฟู้ดเป็นหลัก และมีระดับราคาเริ่มต้นที่ 70 บาท และมีเมนูให้เลือกกว่า 50 เมนู”


 

ขณะที่ภาพรวมยอดขายในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ผ่านมาของบริษัทติดลบ 10-15% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่กลุ่มลูกค้าองค์กรสั่งซื้อเพื่อเป็นของขวัญของฝากลดลงจากสภาพเศรษฐกิจ และการระบาดของโควิด-19 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบทางอ้อมที่ส่งผลต่ออารมณ์การจับจ่ายของลูกค้า ทำให้บริษัทต้องมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดหลายรูปแบบเพื่อรักษาการเติบโตของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่นตามความต้องการของลูกค้าตามความต้องการในแต่ละพื้นที่ การจัดเมนูใหม่ๆ ในส่วนของโมเดลฟู้ดคอร์ท ด้านโมเดลภัตตาคารจะให้ความสำคัญกับเมนูที่หลากหลาย การจัดเซ็ตโปรโมชั่น หรือชุดโต๊ะที่มีหลากหลายระดับราคา เพื่อรองรับความต้องการให้มากที่สุด

บัญชา พจชมานะวงศ์

ขณะที่การลงทุนในรูปแบบภัตตาคาร จะต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน เนื่องจากหากเปรียบเทียบโมเดล ฟู้ดคอร์ทและร้านขนาดเล็กใช้พื้นที่ในการขยายสาขาเพียง 80 ตร.ม. และเงินลงทุนราว 2 ล้านบาทต่อสาขา ขณะที่การขยายสาขาในรูปแบบภัตตาคารต้องใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 400 ตร.ม. และงบประมาณการลงทุนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยลบในขณะนี้ ส่งผลให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป ทานนอกบ้านน้อยลง และมองหาร้านอาหารราคาประหยัดมากขึ้น บริษัทจึงมองว่าการจะขยายสาขาขนาดใหญ่จำเป็นต้องศึกษาตลาดและทำเลให้ถี่ถ้วนเสียก่อน จึงยังไม่มีแผนขยายการลงทุนในเร็วๆนี้แม้ค่าดำเนินการก่อสร้างจะถูกลงจากช่วงปกติ 20-30% ก็ตาม

 

นอกจากนี้ยังมีแผนขยายการบริการเข้าไปในรูปแบบดีลิเวอรี เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับพาร์ทเนอร์ฟู้ดแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อหาข้อสรุป เนื่องจากการเข้าไปวางจำหน่ายในรูปแบบดังกล่าวมีค่า กำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP) ตั้งแต่ 25-35% ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่บริษัทต้องมีการบริหารจัดการให้ดี เนื่องจากราคาและรูปแบบของร้านในปัจจุบันไม่ได้มีการเตรียมไว้เพื่อรองรับบริการดังกล่าวตั้งแต่ต้น ซึ่งต้องมีการศึกษาและปรับโครงสร้างต่างๆให้ดีเสียก่อน

 

อย่างไรก็ตามสำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารจีนในเมืองไทยยังสามารถเติบโตได้อยู่แม้ภาพรวมตลาดจะมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ซึ่งการเติบโตก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของร้านอาหารโดยในกลุ่มภัตตาคารแม้จะยังไม่สามารถทำการตลาดเชิงรุกได้มากนัก แต่ทว่าจากกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นกลุ่มคนในระดับกลาง-บนทำให้ไม่มีผลกระทบในแง่ของกำลังซื้อและยังคงมีกลุ่มลูกค้าประจำอยู่

 

ขณะที่ร้านอาหารขนาดเล็กหากมีจุดเด่นและสร้างการเข้าถึงได้ง่ายก็ยังจะสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายในตลาดแมสได้อีกเป็นวงกว้าง โดยในส่วนยอดขายของบริษัทเบื้องต้นขณะที่ยังอยู่ระหว่างการประเมินทิศทางและการเติบโตของตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ ซึ่งคงต้องรอดูสถานการณ์ไปจนถึงเดือนธันวาคม หากทิศทางการเติบโตของตลาดเป็นได้ด้วยดี ในปีหน้าบริษัทก็พร้อมที่จะเดินหน้าลงทุนโมเดลใหม่ๆ เพิ่มเติม แต่หากปัจจัยลบมากระทบธุรกิจมากจนเกินไปก็จะชะลอการลงทุนไว้ก่อน 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,621 วันที่ 25 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โต๊ะจีนอ่วม โควิดป่วนทำยอดตก ขาดทุนระนาว

เชียงการีลา ส่งไซซ์จิ๋วเจาะฟู้ดคอร์ต