ของขวัญ ของชำร่วย 6 หมื่นล้านระส่ำ 3 พันรายดิ้นหนีตาย

25 ต.ค. 2563 | 02:27 น.

3,000 ผู้ประกอบการของขวัญ ของชำร่วยระสํ่าหนัก โควิดทุบส่งออกทรุด ตลาดในประเทศเดี้ยง ค้าออนไลน์นำเข้าสินค้าจีนแย่งลูกค้า ธปท.ไม่ขยายเวลาพักชำระหนี้ทำขาดสภาพคล่องหนัก ตลาด 6.4 หมื่นล้านปีนี้คาดวูบกว่า 40%

ช่วงโค้งสุดท้ายในทุกปลายปีที่ผ่านมา ตลาดของขวัญ ของชำร่วยทั้งในและต่างประเทศจะมีความคึกคัก รับเทศกาลรื่นเริงทั้งคริสต์มาสและปีใหม่แต่ปีนี้สถานการณ์เงียบเหงาจากผลกระทบโควิด-19

 

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เวลานี้สมาชิกสมาคมฯ 350 ราย และอุตสาหกรรมของขวัญ ของชำร่วยฯในภาพรวมกว่า 3,000 รายกำลังประสบปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่องอย่างมาก จากผลกระทบโควิด ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่เข้ามาซื้อของที่ระลึกกลับไป ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้

 

จากการรวบรวมข้อมูลของสมาคม พบว่าปัจจุบันตลาดของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน ทั้งในประเทศและส่งออกมีมูลค่ารวมกว่า 64,000 ล้านบาท  (รวบรวมจากสินค้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน ซึ่งจะแตกต่างจากตัวเลขของทางราชการ ที่จะรวบรวมข้อมูลตามพิกัดศุลกากรที่มีตัวเลขน้อยกว่า) แบ่งเป็นตลาดของที่ระลึกที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวมีมูลค่ามากกว่าปีละ 28,000 ล้านบาท ตลาดของชำร่วยที่บริษัทห้างร้านต่างๆ ใช้ในการส่งเสริมการขายปีละกว่า 10,000 ล้านบาท และตลาดของขวัญ ของชำร่วยฯ ตะกร้าของขวัญ) ปลายปี อีกกว่า 2,000 ล้านบาท และตลาดส่งออกในปีที่ผ่านมาอีกกว่า 24,000 ล้านบาท คาดปีนี้ภาพรวมมูลค่าตลาดจะลดลงมากกว่า 40% ในจำนวนนี้เป็นยอดส่งออกที่จะลดลงกว่า 20%

 

ของขวัญ ของชำร่วย 6 หมื่นล้านระส่ำ 3 พันรายดิ้นหนีตาย

 

ของขวัญ ของชำร่วย 6 หมื่นล้านระส่ำ 3 พันรายดิ้นหนีตาย

                               จิรบูลย์  วิทยสิงห์

“ตัวเลขส่งออกที่ไม่ลดลงไปมากกว่านี้ เพราะตลาดใหญ่สุดคือสหรัฐฯยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาบ้าง จากสงครามการค้ากับจีน ทำให้สหรัฐฯหันมานำเข้าสินค้าของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้านจากเวียดนาม อินเดีย รวมถึงไทยเพื่อทดแทนสินค้าจีน ขณะที่ตลาดในประเทศปีนี้ซบเซาจากผลกระทบโควิด ทำให้บริษัทห้างร้านเอกชนลดหรืองดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ต้องใช้ของขวัญ ของชำร่วย ทำให้ตลาดส่วนนี้หายไป 30-40% แต่ยังได้ตลาดส่วนราชการมาช่วย เพราะตั้งงบแล้วยังต้องซื้อ”

 

นายจิรบูลย์ ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์ ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย กล่าวอีกว่า ภาพรวมผู้ประกอบการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย(มี 6 สมาคมจาก 4 อุตสาหกรรม)กว่า 6,000 ราย ที่ถูกมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยกำลังได้รับผลกระทบด้านสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากผลพวงโควิด ซึ่งล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการค้าออนไลน์ที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการนำเข้าสินค้าจากจีน และจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาจำหน่ายให้ลูกค้า ใช้สินค้าในประเทศน้อย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากรัฐบาลจะมีผู้ต้องปิดตัวลงอีกมาก เวลานี้หลายรายหันไปผลิตหน้ากากอนามัย ถุงผ้า และอื่น ๆ เพื่อประคองธุรกิจ แต่ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน

 

ของขวัญ ของชำร่วย 6 หมื่นล้านระส่ำ 3 พันรายดิ้นหนีตาย

ด้านนายสุพัฒน์ ศรีวรรณวิทย์ประธานสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทยกล่าวว่า ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ของไทยมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และตลาดในประเทศมีมูลค่าใกล้เคียงกัน ปีนี้ในส่วนการส่งออกคาดจะติดลบ 12-15% จากตลาดต่างประเทศ หดตัว และในประเทศไม่สามารถจัดงาน STYLE Bangkok 2020 (ปกติจัดปีละ 2 ครั้ง)ที่ช่วยเพิ่มยอดส่งออกได้จากผลกระทบโควิด และงานต้องเลื่อนไปจัดปีหน้าช่วงเดือนมีนาคมก็ยังต้องลุ้นว่าจะเป็นเช่นไร

 

 

“ปัญหาใหญ่สุดของผู้ประกอบการในเวลานี้คือขาดสภาพคล่อง วอนรัฐบาลทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงเงินกู้ซอฟต์โลน และขอให้กรมสรรพากรเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ที่เก็บจากผู้ส่งออกที่ยังมีความล่าช้ามาก ครึ่งปีก็ยังไม่ได้คืน ทั้งนี้เพื่อช่วยเติมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจโดยเร็วหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลและการผ่อนปรนจากแบงก์คงต้องหยุดกิจการและสูญหายไปพอสมควร”

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับที่ 3621 วันที่ 25-28 ตุลาคม 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เซ็นทรัล ทุ่ม 10 ล้าน ปั้นยอดบัตรของขวัญ

รมว.คลัง เตรียม ออกมาตรการให้ของขวัญปีใหม่ประชาชน