อุตสาหกรรมเหล็กเฮ กฎหมาย AC คลอด เริ่มใช้ ธ.ค.นี้

24 ต.ค. 2563 | 08:36 น.

อุตสาหกรรมเหล็กเฮ กฎหมาย AC คลอดแล้ว เริ่มใช้ต้นเดือน ธ.ค.

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อความต้องการใช้เหล็กโดยรวมของโลกที่หดตัว -2.4% ในปี 2563 ตามคาดการณ์ของสมาคมเหล็กโลก และสถานการณ์การใช้เหล็กของภูมิภาคต่างๆ ในโลกหดตัวเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงบางประเทศในอย่างตุรกี และจีนซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้เหล็กที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนประเทศที่เหลือต่างเผชิญกับปัญหาความต้องการใช้เหล็กที่หดตัวอย่างรุนแรงทั้งสิ้น

อุตสาหกรรมเหล็กเฮ  กฎหมาย AC คลอด เริ่มใช้ ธ.ค.นี้

สำหรับประเทศไทยตามการประเมินของสมาคมเหล็กโลก คาดว่าความต้องการใช้เหล็กทั้งปี 2563 จะหดตัว -8.7%  เทียบกับรายงานตัวเลขช่วง 8 เดือนแรกของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยที่ระบุว่าหดตัวไปแล้ว -14.2% ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานการณ์จริงนั้นสาหัสกว่าที่มีการประเมินกันไว้ อีกทั้งภูมิภาคอาเซียนก็เผชิญสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน คาดว่าความต้องการใช้เหล็กจะปรับลดลงเหลือ 73.07 ล้านตัน ในปีนี้ เทียบกับ 77.76 ล้านตัน ในปีก่อนหน้า คิดเป็นความต้องการใช้เหล็กที่หายไปราว 4.68 ล้านตัน หรือเท่ากับหดตัว -6.0%

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศกลุ่มผู้ผลิตเหล็กทั่วโลกที่รวมตัวผ่านทาง Global Forum on Steel Excess Capacity (GFSEC) ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาครัฐของประเทศผู้ผลิตเหล็กในกลุ่ม G20 และกลุ่มประเทศ OECD มีกำหนดหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาพันธ์อุตสาหกรรมเหล็กอาเซียน (AISC) ในวันที่ 27 สิงหาคม นี้

ทั้งนี้ฟอรั่ม GFSEC ที่จะเกิดขึ้นเป็นการขยายความร่วมมือร่วมกันระหว่างประเทศผู้ผลิตเหล็กของโลก เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นถึงแนวทางการกำหนดประเด็นปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่อุตสาหกรรมเหล็กโลกเผชิญอยู่ท่ามกลางความท้าทายในด้านอุปสงค์ของการใช้เหล็กที่หดตัวรุนแรงในสถานการณ์ COVID`-19  โดยอาเซียนกำลังเป็นที่จับตามองเนื่องจากที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศจีน ทำให้เกิดการเร่งลงทุนของผู้ประกอบการจีนมาเพิ่มกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียนอย่างรวดเร็ว ขณะที่กำลังการผลิตจำนวนมากเป็นการผลิตสินค้าที่ในอาเซียนมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินอยู่แล้ว  โดยการศึกษาของ AISC พบว่า หากโครงการขยายการลงทุนจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจากจีนที่ได้มีการประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ถูกดำเนินการสร้างและเปิดทั้งหมด จะทำให้กำลังการผลิตเหล็กดิบของทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็น 157.2 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 89.5 ล้านตัน จะยิ่งสร้างปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินอย่างรุนแรง และอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 17 ปี  จนกว่าระดับความต้องการใช้เหล็กจึงจะเพิ่มขึ้นและสมดุลกับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มเข้ามาในช่วงไม่กี่ปีนี้

อุตสาหกรรมเหล็กเฮ  กฎหมาย AC คลอด เริ่มใช้ ธ.ค.นี้

“ข้อเรียกร้องร่วมกันของสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ที่จะส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลของแต่ละประเทศจะเป็นไปเพื่อให้ภาครัฐเข้ามาให้ความสำคัญกับปัญหาการขยายตัวของกำลังการผลิตเหล็กอย่างไม่สมดุลที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการให้การอุดหนุนหรือการสนับสนุนจากของรัฐบาลที่จะส่งผลให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างตลาดและการลงทุน  ตลอดจนการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างตลาดการค้าที่เป็นธรรม ตามกรอบขององค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO)  ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกันในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างโปร่งใส และข้อเรียกร้องให้ประเทศจีนกลับเข้ามาร่วมการประชุมหลังจากที่รัฐบาลจีนออกจากการประชุมใน GFSEC นี้ ไปเมื่อหลายปีก่อน”

 

นายกรกฎ  กล่าวเพิ่มว่า ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ของไทยเตรียมออกกฎหมายลูกภายใต้ พรบ. ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ปี 2562 ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งรวมถึงประกาศกฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention) หรือที่เรียกว่า AC ด้วย โดยคาดว่ากฎหมาย AC จะบังคับไม่เกินต้นเดือนธันวาคม 2563 นี้  ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการถูกนำเข้าสินค้าที่หลบเลี่ยงมาตรการ AD ที่มีอยู่เดิม สามารถยื่นคำขอให้เปิดพิจารณา AC เพื่อตอบโต้พฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวได้  ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำเข้ามีการหลบเลี่ยงสินค้าเข้ามาหลายรูปแบบ เช่น การเจือธาตุอัลลอยในเหล็ก เป็นต้น หรือกรณีล่าสุด คือ การประกาศใช้มาตรการ AD ฉุกเฉิน โดยกรมการค้าต่างประเทศกับสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (Cold-rolled GI) จากประเทศจีน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  แต่ก็พบว่าหลังประกาศใช้มาตรการดังกล่าว เกิดรูปแบบการหลบเลี่ยงมาตรการ AD โดยหันมานำเข้าเป็นสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (Hot-rolled GI) แทน จนทำให้มีปริมาณนำเข้าสินค้า HR GI จากจีนในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 22,306 ตัน เทียบกับปริมาณนำเข้าปีก่อนหน้า ที่อยู่เพียง 1,487 ตัน  หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 1,400% ซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนถึงรูปแบบทางการค้าที่เป็นการหลบเลี่ยงมาตรการ AD  คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่กรมการค้าต่างประเทศเริ่มใช้มาตรการ AC จะมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมมายื่นขอใช้มาตรการดังกล่าว