ผ่า ดีเอ็นเอ ‘อาศัย’ แบรนด์ไลฟ์สไตล์โฮเทล ‘ดุสิตธานี กรุ๊ป’

24 ต.ค. 2563 | 02:30 น.

การขยายธุรกิจของ กลุ่มดุสิตธานี เพื่อก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการลงทุนโรงแรมที่มีบริการแบบจำกัด (Limited Service) ภายใต้ “อาศัย” แบรนด์ ไลฟ์สไตล์ โฮเทล จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เกิดขึ้น

             การขยายธุรกิจของ กลุ่มดุสิตธานี  เพื่อก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการลงทุนโรงแรมที่มีบริการแบบจำกัด (Limited Service) ภายใต้ “อาศัย” แบรนด์ ไลฟ์สไตล์ โฮเทล  จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เกิดขึ้น ในการรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ ตอบโจทย์การทำโรงแรมในรูปแบบใหม่ ดีเอ็นเอ ของแบรนด์อาศัยจะเป็นเช่นไร “ศิรเดช โทณวณิก”  กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด และทายาทเจเนอเรชั่น 3 ดุสิตธานี จะสะท้อนเอกลักษณ์ของแบรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น

เจาะกลุ่มมิลเลนเนียล

          แบรนด์อาศัย เกิดขึ้นจากการตั้งทีมสตาร์ทอัพขึ้นมา นำโดย “ศิรเดช โทณวณิก” คนรุ่นใหม่ยุค GEN Y ที่ศึกษาทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียล จนดีไซน์คาแร็กเตอร์แบรนด์อาศัย เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพราะการจะให้คนในองค์กรดุสิตธานี ให้บริการโรงแรมแบบฟูลเซอร์วิสระดับ 4-5 ดาว ที่มีอายุร่วม  70  ปี ไปสร้างแบรนด์ไปทำแบรนด์โรงแรมรูปแบบใหม่ ก็คงไม่ใช่

            เขาเล่าว่า ต้องการสร้างแบรนด์อาศัย ให้เป็น “ฮอสพิทาลิตี้ แพลตฟอร์ม” ไม่ใช่แค่โรงแรมอย่างเดียว แต่เราผสมผสานการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งไม่จำกัดโดยอายุ แต่ดูเรื่องพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้เป็นหลัก เราจึงดีไซน์โรงแรมแบรนด์อาศัย ให้มีเอกลักษณ์ ให้เขาถึงความต้องการของลูกค้าในเซ็กต์เม้นท์นี้

         ไม่ว่าจะเป็น Experience Economy  ซึ่งเราไม่ได้ขายห้องอย่างเดียว แต่เราขายประสบการณ์ให้เขาด้วย Local Community การนำเสนอเสน่ห์ของพื้นที่ในโลเคชั่นที่โรงแรมตั้งอยู่ Sustainable มุ่งสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ การจัดการเรื่องของเสีย หรือ Waste to Worth  การสร้างวัฒนธรรมของตัวเอง คลีเอด แอคทิวิตี้

            อาทิ ที่โรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ ที่เราเพิ่งเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ เราก็มีการจัดกิจกรรมนำน้ำมันจากดุสิตธานีที่ใช้แล้วมาทำสบู่ การนำขยะพาสติกในย่านเยาวราช มารีไซเคิล สร้างเป็นตัวสิงโต ตกแต่งอยู่ที่โรงแรม เป็นต้น เพื่อเชื่อมทุกคนให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน และดีไซน์โรงแรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

          เพราะกลุ่มมิลเลนเนียล จะมีความสนใจในวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ต้องการความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายในสไตล์มินิมอล ชอบการทำกิจกรรมต่างๆทั้ง EAT, WORK, PLAY ในพื้นที่ส่วนกลาง ดังนั้นโรงแรมแบรนด์อาศัยจะไม่มีล็อบบี้ เราสร้างพื้นที่สาธารณะ ให้เป็นเหมือนบ้าน มาที่นั่ง มีเกมส์ มีร้านอาหาร เล้าจญ์

ผ่า ดีเอ็นเอ ‘อาศัย’ แบรนด์ไลฟ์สไตล์โฮเทล  ‘ดุสิตธานี กรุ๊ป’

         ส่วนการจัดกิจกรรมด้านเอฟแอนด์บีหรือการบริการอาหารในโรงแรม เราก็ไปดูว่าร้านอาหารแถวนี้ไม่มีอะไรขายบ้าง เราก็ครีเอตเมนูมาขาย อย่างที่โรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ เราไม่มีร้านอาหารจีน หรืออาหารไทย แต่เราผสมผสานอาหารสไตล์เวสเทิร์นและอาเซียน เราต้องไม่แข่งกับอาหารที่มีอยู่แล้วชุมชน  หรือจัดกิจกรรมให้คนในพื้นที่มาขายอาหาร เป็นต้น

            เรายังมุ่งด้าน HR เน้นพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทำได้หลายที่ เป็นองค์กรที่กะทัดรัด มีการหมุนเวียนตำแหน่งงาน เพราะเจเนอเรชั่นใหม่ๆอยากเรียนรู้หาประสบการณ์การทำงานแบบใหม่ๆ ไม่เหมือนในอดีตที่คนทำงานหน้าที่ใด ก็จะทำหน้าที่นั้นไปตลอดชีวิต มีการเซ็ตเป้าหมาย ในการทำงานของแต่ละคน เพื่อเดินไปสู่สิ่งที่ต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น คนอยู่ในครัว ก็มีส่วนสร้างรายได้ให้โรงแรมได้เช่นกัน ซึ่งก็จะต้องมีช็อตลิสต์ว่าต้องทำอะไรบ้าง

            รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีมาใช้ เช่น การเช็กอินน์ ลูกค้าสามารถเช็กอินน์ ได้ด้วยตัวเอง ผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่น, ตู้คีออส ที่หน้าล็อบบี้ ลูกค้าใช้เวลาเช็คอินเพียง 1 นาที 20 วินาที เพราะเราเข้าใจว่าคนเดินทางก็อยากเข้าห้องพักเร็วๆ  แต่เรามีพนักงานอยู่ในบริเวณนั้น เพียง 1-2 คน เพื่อสื่อสารกับลูกค้า

ซัพพอร์ต คอมมูนิตี้

            พนักงานของอาศัย จะต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งว่าในชุมชนที่โรงแรมตั้งอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเมืองที่มีวิถีชุมชนที่มีเอกลักษณ์และอยู่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งเราจะมีโปรแกรม “อาศัย เดย์” ให้พนักงานจากทุกฝ่าย แบ่งกลุ่มลงพื้นที่ในชุมชนนั้น เพื่อไปหาร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ของดีของเด่น ในชุมชน เพื่อให้เข้าถึงข้อมูล พนักงานต้องทำตัวเป็นเนวิเกเตอร์ แนะนำลูกค้าได้ว่าควรจะไปที่ใดบ้าง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

            “อาศัย ไม่ใช่แค่ขายโรงแรม แต่เราต้องซัพพอร์ต คอมมูนิตี้ได้ด้วย เราต้องการให้ ดีเอ็นเอ ของอาศัย เป็นสะพานเชื่อมโยงคนเดินทางกับเดสติเนชั่น เพื่อนบ้านหรือชุมชนต่างๆรอบเรา ซึ่งโรงแรมแบรนด์อาศัยทุกแห่งก็จะมีดีเอ็นเอแบบนี้เหมือนกันหมด”

ผุดอาศัย 7 แห่งไทย-เทศ

            ส่วนการลงทุนขยายแบรนด์อาศัย ปัจจุบันมีแผนจะเปิดให้บริการจำนวน 7 แห่ง โดยเป็นโรงแรมที่บริษัทลงทุนเอง 3 แห่ง เพื่อต้องการสร้างแฟลิกชิพของแบรนด์อาศัย ซึ่งมีที่ ไชน่าทาวน์ (เยาวราช)ขนาด 224 ห้องพัก ใช้เงินลงทุน 1,100 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ แม้จะเปิดในช่วงโควิด-19 ที่อาจไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่ในขณะนี้โรงแรมก็เน้นลูกค้าคนไทย และต่างชาติที่พำนักในไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมด้านอาหาร ที่ดึงเชฟดังๆมาร่วมกิจกรรม ขายเป็นแพ็กเกจ ก็สร้างรายได้เข้ามาในช่วงนี้

            ตามมาด้วยโรงแรมอาศัย สาธร (ซอย12)  ขนาด 106 ห้องพัก เตรียมเปิดไตรมาส 2 ปี2564  และโรงแรม อาศัย เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 111 ห้องพัก เปิดปี 2565 ส่วนรับที่เหลืออีก 4 แห่ง จะเป็นการรับบริหาร ได้แก่ โรงแรม อาศัย ยะขิ่น ย่างกุ้ง  เปิดให้บริการปลายปีหน้า และโรงแรมอาศัย อีก 3 แห่ง ที่เซบู ประเทศฟิลิปินส์ ซึ่งอาจเปิดล่าช้ากว่ากำหนดเดิม เพราะติดขัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดในฟิลิปปินส์

          นอกจากนี้เราก็ยังสนใจที่อยากจะไปขยายแบรนด์อาศัยในประเทศเวียดนามด้วย เนื่องจากเป็นเมืองที่น่าสนใจในอาเซียน ที่มีวัฒนธรรมน่าสนใจในหลายเมือง ทั้งที่โฮจิมินท์, ฮานอย

หน้า21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3616 วันที่ 8-10 ตุลาคม 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ดุสิตธานี" ดีสรัปต์ตัวเอง ขยายลงทุน ตอบโจทย์บริบทใหม่ท่องเที่ยว
“ดุสิตธานี” ปักหมุดแบรนด์ใหม่ “อาศัย” แห่งแรก เยาวราช รุกกลุ่มมิลเลนเนียล
เราเที่ยวด้วยกัน จ่ายต่ำ 1 พันบาท ก็พัก เครือ“ดุสิตธานี”ได้