ตำรวจ ยุบ "กอร.ฉ." หลังยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

22 ต.ค. 2563 | 07:21 น.

ตำรวจ ยกเลิกศูนย์ กอร.ฉ. หลังยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่จะปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับกฎหมายปกติ

22 ตุลาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยหลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษา ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ กอร.ฉ. ที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่งดังกล่าว ก็จำเป็นต้องยุติการทำหน้าที่ด้วยเช่นกัน แต่จะปรับไปเป็นรูปแบบอื่น ซึ่งการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ประเมินสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่า สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ ตำรวจจะกลับไปใช้กฎหมายปกติดูแลการชุมนุม เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญาทั่วไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เกาะติดสถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 22 ตุลาคม 2563

เปิดกำหนดการ รวมพลปกป้องสถาบันฯ

ม.แม่โจ้ ออกแถลงการณ์ขอแบนทุกกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ศาลปล่อยตัว "มายด์ แกนนำมหานครเพื่อปชต.ไม่มีเงื่อนไข

 

ส่วนภาพรวมการชุมนุมในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะที่ เหตุการณ์ปะทะบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผู้ชุมนุมฝ่ายราษฎร ที่ถูกทำร้ายร่างกาย 2 คน เข้าแจ้งความกับตำรวจแล้ว โดยยืนยันว่า ตำรวจจะสืบสวนทำคดีอย่างตรงไปตรงมา ย้ำ ไม่ว่าผู้ชุมนุมฝ่ายใดทำผิด ก็ต้องดำเนินคดีในมาตรฐานเดียวกัน

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่า จะต้องมีการตรวจสอบกลุ่มคนเสื้อเหลืองในทุกมิติเช่นกัน ว่า มีการชักชวนให้มีการชุมนุมหรือไม่ รวมถึง มีท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่ ซึ่งหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีการทบทวนและปรับการดำเนินการให้เหมาะสม และเป็นไปตามกฎหมายที่เปิดช่องให้

ส่วนการจัดกำลังดูแลการชุมนุม ยังคงให้กองร้อยควบคุมฝูงชน ปฏิบัติหน้าที่ดูแลสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมเชื่อว่า หากถอยคนละก้าว โดยใช้กลไกรัฐสภา สถานการณ์จะดีขึ้น