สปสช.แจงปฏิรูปสิทธิบัตรทอง คนกทม.รับบริการปฐมภูมิได้ทุกแห่ง 1 พ.ย.นี้

21 ต.ค. 2563 | 11:21 น.

 สปสช.แจงปฏิรูปสิทธิบัตรทอง คนกทม. เข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการในเครือข่ายบริการได้ทุกแห่ง 1 พ.ย. นี้

 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ “ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เมื่อเจ็บป่วยไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่ไหนก็ได้ในเครือข่ายบริการ” โดยจะนำร่องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 นี้ เป็นการพัฒนารูปแบบระบบบริการเพื่อดูแลคน กทม.

 

สปสช.แจงปฏิรูปสิทธิบัตรทอง คนกทม.รับบริการปฐมภูมิได้ทุกแห่ง 1 พ.ย.นี้

 

โดยระบบได้แบ่งเป็นเขตพื้นที่บริการสุขภาพ มีการจัดกลุ่มเครือข่ายบริการ ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ในแต่ละเขตทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการแม่ข่าย เชื่อมต่อหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกเอกชน ที่เปิดเต็มเวลาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านเวชกรรมที่เปิดตามเวลาที่ประชาชนสะดวกรับบริการเช่นในช่วงเย็นหรือหลังเวลาเลิกงาน เป็นต้น โดยหน่วยบริการร่วมให้บริการนี้ ตัวอย่างเช่น ร้านขายยา ขย.1 คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคกระดูก, เด็ก สูตินรีเวช เป็นต้น ซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมกันดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองในพื้นที่

 

 

ด้วยรูปแบบบริการใหม่นี้ จะทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทองที่แต่เดิมถูกจำกัดให้รับบริการเฉพาะหน่วยบริการประจำที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น จากนี้จะเข้ารับบริการที่หน่วยบริการไหนก็ได้ที่อยู่ในเครือข่ายบริการตามความสะดวกของประชาชน ซึ่งในหนึ่งเขต อาจมี 2 เครือข่ายบริการได้ และในกรณีจำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเหมือนเดิม ซึ่งในหนึ่งเครือข่ายบริการก็อาจมีโรงพยาบาลรองรับการส่งต่อ 2-3 แห่ง ทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชน รูปแบบใหม่นี้จึงเป็นการจัดบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และในกรณีที่การดูแลผู้ป่วยเกินศักยภาพของหน่วยบริการในเครือข่ายก็สามารถส่งต่อรักษาโรงพยาบาลนอกเครือข่ายที่มีศักยภาพได้ 

 

ทั้งนี้ รูปแบบบริการใหม่นี้เป็นเหมือนกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดบริการดูแลผู้ป่วยภายในจังหวัดและส่งต่อผู้ป่วยภายในเขตบริการ ซึ่ง 1 เขต กทม. บางเขตมีจำนวนประชากรมากกว่าในบางจังหวัดด้วยซ้ำ โดยการปรับระบบบริการให้อยู่ในรูปแบบเครือข่ายบริการนี้จะทำให้เกิดการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน เรียกว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุข กทม. ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

“การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข กทม. นี้ จะทำให้ประชาชนไปรับบริการที่หน่วยบริการทุกที่ในเครือข่าย นอกจากเพิ่มความสะดวกแล้ว ยังได้รับการดูแลที่มีคุณภาพจากสหวิชาชีพโดยหน่วยบริการร่วม ทั้งนี้เป็นผลของความร่วมมือหลายฝ่าย ทั้งกรุงเทพมหานคร โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. ที่ให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นคงไม่สำเร็จ เพราะหน่วยบริการสุขภาพหลักใน กทม. คือ หน่วยบริการ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ และยังมีเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ กรมทหาร 3 เหล่าทัพ และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการร่วมดูแล เพราะจำนวนประชากรใน กทม. ที่มีมาก เฉพาะหน่วยบริการภาครัฐยังไม่เพียงพอ” 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการเร่งจัดวางระบบ และเปิดรับหน่วยบริการเข้าร่วมเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งต่อไปในการลงทะเบียนสิทธิจะมีรายละเอียดแจ้งเพิ่มเติม นอกจากหน่วยบริการประจำ หน่วยบริการรับส่งต่อแล้ว ยังมีรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายบริการ อาจจะมี 10-20 แห่งต่อเครือข่ายบริการ ที่ประชาชนสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ ทั้งรักษาพยาบาลเบื้องต้น รักษาต่อเนื่องโรคเรื้อรัง และบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เรียกว่าจะเห็นชื่อหน่วยบริการในเครือข่ายทั้งหมดที่จะไปรับบริการได้ พร้อมกันนี้ สปสช. ยังได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยพัฒนาระบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปเป๋าตัง เพื่อสนับสนุนระบบบริการเครือข่ายใหม่นี้ ทำให้ชาว กทม. มั่นใจได้ว่าเมื่อไปยังหน่วยบริการแล้วจะได้รับบริการแน่นอน ขณะเดียวกันทำให้หน่วยบริการสามารถจัดเตรียมบริการรองรับผู้ป่วยได้

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ที่มาของการพัฒนาระบบบริการใน กทม. ที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขของ กทม. ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก คลินิกเอกชนใน กทม.ที่ถูกยกเลิกสัญญาและออกจากระบบบัตรทองจำนวนมาก ทำให้ประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้รับผลกระทบ ไม่มีหน่วยบริการประจำรองรับ จึงคิดกันว่าทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นต้องให้ประชาชนได้รับการดูแลที่เป็นเครือข่ายบริการ โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ที่เป็นหน่วยบริการภาครัฐเป็นหน่วยบริการหลักในพื้นที่ ในกรณีที่คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนออกจากระบบไป ประชาชนก็ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่กลายเป็นสิทธิว่าง และไม่ต้องมาลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ เนื่องจากยังมีหน่วยบริการเครือข่ายในเขตที่คอยรับรับดูแลอยู่