5 ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้

21 ต.ค. 2563 | 10:05 น.

 

กองทุนรวมตราสารหนี้ คือ กองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งตราสารหนี้จะแสดงความเป็นเจ้าหนี้ให้แก่  ผู้ถือตราสาร ตัวอย่างตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ โดยที่หากตราสารหนี้ออกโดยรัฐบาล เราจะเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล ในขณะที่ออกโดยเอกชน เราจะเรียกว่าหุ้นกู้


 

กองทุนรวมตราสารหนี้ ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ต้องการพักเงินหรือต้องการความเสี่ยงปานกลางค่อนไปทางต่ำ และมีระยะเวลาการลงทุนประมาณ 1-2 ปีขึ้นไป นอกจากนี้กองทุนรวมตราสารหนี้ ยังมีส่วนสำคัญสำหรับนักลงทุนที่มีการจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Asset Allocation เพราะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนลงได้ และยังสามารถใช้เป็นสภาพคล่อง ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้เงินสดเพื่อปรับพอร์ตได้ เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องสูง หากขายจะได้รับเงินในวันที่ T+2  (วันทำการที่ 2 นับจากวันซื้อ-ขายหลักทรัพย์ โดยไม่นับรวมวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดของสถาบันการเงินตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย)  บทความนี้จึงขอนำเสนอสิ่งที่นักลงทุนควรรู้ ก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ดังนี้

 

1. กองทุนรวมตราสารหนี้ขาดทุนได้ด้วยหรือ?

 

เชื่อว่านักลงทุนหลายคนคงมีข้อสงสัยเหมือนกันว่า ถ้าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ จะมีโอกาสขาดทุนหรือไม่ เนื่องจากสิ่งที่เราจะได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ คือ ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้แน่นอน เช่น 3% ต่อปี และจ่ายทุก 6 เดือน ก็ดูเป็นผลตอบแทนที่สม่ำเสมอดี แล้วเราจะขาดทุนได้อย่างไร

 

เหตุผลที่กองทุนรวมตราสารหนี้ขาดทุนได้ เพราะเมื่อเรา (หรือผู้จัดการกองทุน) ได้ลงทุนในตราสารหนี้ล็อตใดล็อตหนึ่งไปแล้ว ก็เท่ากับว่าหมดโอกาสที่จะนำเงินก้อนนี้ไปหาการลงทุนอื่นที่อาจจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าได้ สมมติว่ากองทุนลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เช่น ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ได้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี การที่กองทุนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี แปลว่า เงินเราจะถูก Lock อยู่ที่อัตราผลตอบแทนที่ 3% ตลอดระยะเวลา 5 ปี ถ้าเวลาผ่านไป แล้วอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดมีค่าสูงขึ้น กองทุนก็จะเสียโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น พันธบัตรรัฐบาลล็อตใหม่ที่อาจจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 3%

 

ดังนั้นถ้ากองทุนต้องการนำเงินมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลล็อตใหม่ แล้วอยากขายการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลล็อตเก่าออกมา กองทุนก็จะต้องขายพันธบัตรที่ถือในมือในราคาที่มีส่วนลด หรือ discount เช่น สมมติพันธบัตรรัฐบาลที่ออกใหม่ ให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4% มีส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ 1% ดังนั้น นักลงทุนในตลาดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อจากกองทุน (ซื้อขายในตลาดรอง) ก็ต่อเมื่อมีราคาส่วนลดให้จนเท่ากับส่วนต่างดอกเบี้ยที่ต่างกันอยู่ 1% นั้น มิเช่นนั้นนักลงทุนก็ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลล็อตใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงเป็นเหตุผลที่ว่าหากดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ตราสารหนี้ระยะยาวจะมีราคาลดลง (เพราะต้องมี discount) เมื่อราคาตราสารหนี้ที่อยู่ในพอร์ตลดลง ย่อมกระทบกับ NAV (Net Asset Value) ของกองทุนรวม (คือ NAV ติดลบ) เพราะกองทุนรวมต้องทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยใช้ราคาตลาด หรือ Mark to Market ทุกสิ้นวันทำการตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.

 

2. ผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้มาจากไหน?

 

สิ่งที่นักลงทุนจะได้จากการลงทุนไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน หรือพันธบัตรรัฐบาล คือ ดอกเบี้ยรับตามที่กำหนดไว้ (Coupon) และกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขาย (Capital Gain) หากขายได้ที่ราคาสูงกว่าราคาซื้อ แต่ถ้าขายได้ต่ำกว่าราคาซื้อก็จะขาดทุนในส่วนนี้ ซึ่งได้อธิบายไปในข้อ 1 แล้วว่าทำไมเราจึงมีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ได้

 

 

3. Credit rating คืออะไร และสำคัญอย่างไร?

 

อันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating เป็นการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ โดย “สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies)” ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

ระดับของ Credit Rating จะเป็นสิ่งที่บอกว่าตราสารหนี้นั้นๆ มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากน้อยเพียงใด โดยที่ตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งต่ำ และแน่นอนว่าผลตอบแทนที่ได้ก็จะน้อยกว่าตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า อันดับความน่าเชื่อถือจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ Investment Grade หรือ กลุ่มน่าลงทุน (AAA ถึง BBB-) และ Speculative Grade หรือกลุ่มเก็งกำไร (BB+- ลงไปจนถึง D) ดังนั้นหากจะลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ต้องอย่าลืมพิจารณาถึง Credit Rating ของผู้ออกตราสารที่กองทุนไปลงทุนไว้ด้วย

 

4. Benchmark ของกองทุนรวมตราสารหนี้คืออะไร?

 

ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Index) เป็นดัชนีหลักชี้วัดการเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้เพื่อใช้เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ และใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบเพื่อวัดผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารหนี้ (Benchmark) ด้วย


นอกจากนี้เราสามารถใช้ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการสะท้อนภาวะของอัตราดอกเบี้ยในตลาด กล่าวคือ หากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลง ราคาของตราสารหนี้จะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาของตราสารหนี้จะปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง

 

 

5. การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้เหมาะกับใคร?

 

การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก และไม่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงหรือหวือหวา ซึ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ไปลงทุนในตราสารหนี้แต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป เช่น หากไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ก็จะมีความเสี่ยงต่ำมาก และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากไปลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน แต่ก็ยังถือว่าเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ

 

นอกจากนี้กองทุนรวมตราสารหนี้ยังเหมาะกับผู้ที่พลาดโอกาสในการซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มักจะมีการแย่งกันจองซื้อในช่วงที่ออกเสนอขายอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงค่อนไปทางต่ำ ก็ต้องไม่ลืมที่จะศึกษาถึงข้อมูลของกองทุนรวมที่เราสนใจจะลงทุน ด้วยการอ่านและทำความเข้าใจหนังสือชี้ชวนก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ

 

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมแอป EASY INVEST ได้จาก http://www.scbs.com/easyinvest  หรือดาวน์โหลดแอป EASY INVEST เพื่อเปิดกว้างโลกการลงทุนให้เป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว

 

บทความโดย  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร